รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeศาสตร์ชะลอวัย Anti-aging

คุณค่าของราชาแห่งเห็ด

เห็ด ได้รับการยกย่องมาหลายศตวรรษ ในแง่ของการช่วยดูแลสุขภาพ รักษาโรค และบำรุงกำลัง

ไมตาเกะ (Grifola frondosa) ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า “แม่ไก่ในป่า” ถือเป็นราชาแห่งเห็ด

เนื่องจากไม่เพียงแต่มีสรรพคุณทางยา ที่พิสูจน์ชัดแล้วทางวิทยาศาสตร์ แต่ยังเป็นอาหารราคาแพงอีกด้วย

ในป่าญี่ปุ่นยุคโบราณ ไมตาเกะป่ามักจะมีน้ำหนักถึง 100 ปอนด์ (45 กก.)

ในภาษาญี่ปุ่น ไมตาเกะ หมายถึง “เห็ดเริงระบำ” บางคนบอกว่าเป็นเพราะผู้ที่พบเจอ เห็ดชนิดนี้จะเริ่มเต้นรำด้วยความดีใจ ผู้อื่นให้เหตุผลว่า ชื่อของเห็ดชนิดนี้มาจากการที่ดอกเห็ดซ้อนทับกันอยู่ทำให้มีลักษณะคล้ายผีเสื้อเริงระบำ

ไมตาเกะถือว่ามีค่าและหายากมาก ในญี่ปุ่นยุคโบราณ จนสามารถนำไปแลกกับแร่เงินได้ ตามน้ำหนักของเห็ด

อย่างไรก็ตาม ด้วยกรรมวิธีเพาะปลูกยุคใหม่ ในปัจจุบันจึงหาซื้อ ไมตาเกะ ทั้งชนิดแห้งและสดได้ ตามร้านขายอาหารแนวธรรมชาติและตลาดสินค้าจากเอเชียทั่วโลก

สุขภาพและสุขภาวะ

ในแง่โภชนาการ ไมตาเกะให้พลังงานและคาร์โบไฮเดรตต่ำ แต่มีโปรตีนมากถึง 25-27% จึงเป็นแหล่งที่อุดมด้วยกรดอะมิโนจำเป็นต่างๆ และมี บี-กลูแคน ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์เชิงยาที่สำคัญที่สุดของเห็ดชนิดนี้ในปริมาณมากถึง 14%

ไมตาเกะมีเส้นใยอาหารอยู่บ้าง และมีวิตามินและเกลือแร่สำคัญอยู่หลายชนิด ทั้งวิตามินบีต่างๆ วิตามินซีและดี แมกนีเซียม เหล็ก โพแทสเซียม เซเลเนียม และสังกะสี

ไมตาเกะ ถือเป็นสารปรับสมดุล ซึ่งหมายถึงสารที่ช่วยให้ร่างกายปรับตัวรับความเครียด และปรับการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ

การแพทย์สมุนไพรของญี่ปุ่นถือว่าไมตาเกะใช้เป็นยารักษาอาการหลายชนิดและใช้เป็นยาที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและบำรุงสุขภาพโดยรวม

การแพทย์แผนโบราณของจีน ถือว่าไมตาเกะเป็นเห็ดที่มีสรรพคุณเชิงยา ด้านการชำระล้างตับและปอด

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพส่วนใหญ่ เห็นด้วยว่า หากการทำงานของตับดีขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวม เพราะตับเป็นอวัยวะขนาดใหญ่ที่สุด อวัยวะหนึ่ง และทำหน้าที่หลายอย่าง รวมถึงการกำจัดพิษต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นภายในและนอกร่างกาย

ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ในห้องทดลองทั่วโลก ยืนยันว่า ไมตาเกะมีประโยชน์อย่างยิ่งในเชิงยา โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของร่างกาย

ในโลกตะวันออก มีการผลิตสารสกัดจากไมตาเกะและเป็นที่ยอมรับด้านการใช้ เพื่อบำบัดมะเร็งบางชนิด

ขณะที่ในโลกตะวันตกนั้น ความนิยมไมตาเกะในแง่ของการใช้เป็นอาหารและยาบำรุงก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

มะเร็งเเละเอชไอวี/เอดส์

ในบทความที่ตีพิมพ์ใน The Townshend Letter for Doctors ดร.แอนโทนี่ เจ.ซิโชเกะ ปริญญาโทด้านศิลปศาสตร์ ปริญญาเอกด้านการจัดกระดูก ระบุว่า

ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ หลายครั้งแสดงให้เห็นว่า ไมตาเกะมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงสุดในบรรดาเห็ดทั้งปวง

วิธีที่ให้ผลดีที่สุด ในการบริโภคไมตาเกะเชิงยา คือ การใช้ ดี-แฟรกชั่น (D-fraction) ซึ่งเป็นสารสกัดมาตรฐานของสารประกอบออกฤทธิ์เบต้า 1.6 กลูแคน ที่พัฒนาขึ้นโดยฮิโรกิ นัมบะ ดุษฎีบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยเวชศาสตร์

โกเบ ดร.นัมบะค้นพบว่า 90% ของหนูที่ถูกฉีดเซลล์มะเร็งเข้าไป แล้วป้อนดี-แฟรกชั่นจากไมตาเกะ ไม่พบหลักฐานการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

ในการศึกษาครั้งอื่น ที่กระทำกับมนุษย์ ดร.นัมบะรายงานว่า “สังเกตพบการเสื่อมถอยของเนื้องอก หรือการฟื้นตัวอย่างชัดเจน

ในคนไข้มะเร็งทรวงอก 11 จาก 15 ราย คนไข้มะเร็งปอด 12 จาก 18 ราย และคนไข้มะเร็งตับ 7 จาก 15 ราย”

ในกรณีที่ไม่พบการเสื่อมถอยของเนื้องอก คนไข้ที่บริโภคไมตาเกะ ก็ระบุว่าอาการโดยรวมดีขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เมื่อใช้ดี-แฟรกชั่นจากไมตาเกะร่วมกับเคมีบำบัด ผลการตอบสนองดีขึ้นราว 12% จนถึง 28% อาการข้างเคียงต่างๆ ของเคมีบำบัด เช่น ผมร่วง คลื่นไส้ ก็ลดลงอย่างมากในคนไข้ราว 90% ที่อยู่ในโครงการศึกษา และ 83% ของคนไข้มะเร็งที่ทำการศึกษา รายงานว่าความเจ็บปวดลดน้อยลงด้วย

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยด้านการแพทย์ในหลายประเทศทำการศึกษาปฏิกิริยาต้านเนื้องอก ของเห็ดหลากหลายชนิด

เห็ดที่มีฤทธิ์เชิงยาส่วนใหญ่ เช่น หลินจือ เห็ดหอม และไมตาเกะ มีคุณสมบัติเช่นเดียวกัน ในด้านส่งเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกัน โดยกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันแบบพึ่งเซลล์

สรุปง่ายๆ ก็คือ เห็ดเหล่านี้ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของที-เซลล์1 ซึ่งจะเคลื่อนที่ไปตามกระแสโลหิตเพื่อเสาะหาและทำลายเซลล์มะเร็ง

โครงสร้างทางเคมีของสารประกอบเบต้า 1.6 กลูแคน ซึ่งเป็นโพลีแซ็กคาไรด์ ที่ออกฤทธิ์เชิงยาของไมตาเกะนั้น ต่างจากเบต้า-กลูแคนที่พบในเห็ดสมุนไพรอื่นๆ

โดยนักวิจัยเห็นว่า เป็นสารที่ให้ประสิทธิผลสูงมาก ในการกระตุ้นปฏิกิริยาตอบสนองของภูมิคุ้มกัน แบบพึ่งเซลล์

การทำงานของเซลล์ ที่เป็นนักฆ่าโดยธรรมชาติและที-เซลล์ซึ่งเป็นพิษต่อเซลล์ จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า เมื่อบริโภค ไมตาเกะ

การบริโภคไมตาเกะยังช่วยเพิ่มการผลิตอินเทอร์ลิวคิน-แอล2 ซึ่งกระตุ้นที-เซลล์และไอออนประจุลบซูเปอร์ออกไซด์3 ซึ่งทำลายเซลล์เนื้องอก

แม้ว่าส่วนใหญ่แล้ว การศึกษาเรื่องการใช้ไมตาเกะเพื่อรักษามะเร็ง ทั้งในสัตว์และมนุษย์ จะกระทำขึ้นในเอเชีย

แต่เมื่อปี 1998 สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) อนุมัติตามคำขอให้ตรวจสอบยาชนิดใหม่ (ไอเอ็นดี) เพื่อทำการทดลองทางคลินิกขั้น 2

โดยใช้สารสกัดไมตาเกะ ในการรักษาคนไข้มะเร็งเต้านม และต่อมลูกหมาก การศึกษานี้จะตรวจสอบผลกระทบที่สารสกัดไมตาเกะมีต่อภูมิคุ้มกันจนส่งผลถึงขนาดของเนื้องอก อาการด้านคลินิก และคุณภาพชีวิต

คุณสมบัติด้านการต้านมะเร็งของไมตาเกะ แม้จะน่าประทับใจ แต่เห็ดชนิดนี้ มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดเพราะคุณสมบัติด้านการต้านเอชไอวี

การศึกษาหลายครั้งพบว่า ไมตาเกะเพิ่มจำนวนที-เซลส์ ที่ช่วยสู้กับเอชไอวี

นักวิจัยที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ (เอ็นซีไอ) กล่าวว่าสารสกัดไมตาเกะทรงพลังเทียบเท่าเอแซดทีซึ่งเป็นยาต้านเอดส์ แต่ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง

ในการศึกษาโดยวิธีเพาะเนื้อเยื่อ พบว่าดี-แฟรกชั่น ช่วยเสริมการทำงานของเซลล์ภูมิต้านทานต่างๆ รวมทั้งที-ลิมโฟไซต์ด้วย การศึกษาครั้งอื่น รายงานว่าสารสกัดไมตาเกะช่วยป้องกันที-เซลล์ที่ติดเชื้อเอชไอวีไม่ให้ถูกทำลายได้ถึง 96% ในการเพาะเนื้อเยื่อ

การลดไขมันในเลือดและการลดน้ำหนัก

ไมตาเกะก็เช่นเดียวกับเห็ดหอม ที่อาจให้ประสิทธิผลในการลดไขมันในเลือด และช่วยกำจัดไขมันส่วนเกินของร่างกาย

ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ไมตาเกะมีความสามารถปรับเปลี่ยนระบบเผาผลาญไขมันโดยยับยั้งการก่อรูปของไขมันตกค้าง การสะสมไขมันตับ และการเพิ่มปริมาณของไขมันในเลือด

การวิจัยระยะหลังในญี่ปุ่นซึ่งทำกับสัตว์ แสดงให้เห็นว่า การป้อนไมตาเกะจำนวนมาก ให้กับหนู ที่กินอาหารคอเลสเตอรอลสูง ช่วยปรับเปลี่ยนระบบการเผาผลาญไขมันของหนูได้อย่างชัดเจน

ส่งผลให้ มีการขับคอเลสเตอรอลในอัตราสูงกว่า หนูกลุ่มควบคุมที่กินอาหารแบบเดียวกัน แต่ไม่ได้ป้อนไมตาเกะ หนูที่ป้อนไมตาเกะขับคอเลสเตอรอลมากกว่าหนูกลุ่มควบคุมถึง 300%

หนูที่ป้อนไมตาเกะยังมีน้ำหนักตัว  ไขมัน และระดับคอเลสเตอรอลต่ำกว่าหนูกลุ่มควบคุมอีกด้วย

อาศัยแนวทางจากการศึกษาในสัตว์ คลินิกในโตเกียวจึงทดสอบผลของไมตาเกะ ที่มีต่อคนไข้น้ำหนักเกินจำนวน 30 ราย โดยไม่มีการเปลี่ยนอาหารที่บริโภค

มาซาโมริ โยโกตะ แพทยศาสตร์บัณฑิต ให้คนไข้กินทั้งไมตาเกะตากแห้งและไมตาเกะชนิดผง (เทียบเท่ากับไมตาเกะสด 200 กรัม) เป็นประจำทุกวันนาน 2 เดือน

โยโกตะรายงานว่าไมตาเกะให้ผลดีกว่า แนวทางการควบคุมอาหารและออกกำลังกายใดๆ ที่เขาเคยทดลองมา

ระหว่างช่วงเวลาสั้นๆ ที่ทำการทดลอง คนไข้ทุกคนน้ำหนักลดลงโดยลดได้เกือบครึ่งหนึ่งของน้ำหนักที่ต้องการลด น้ำหนักที่ลดลงนั้นอยู่ระหว่าง 11-26 ปอนด์ (5-12 กก.) เฉลี่ยแล้วแต่ละคนลดน้ำหนักได้ราว 11-13 ปอนด์ (5-6 กก.) ภายในเวลาเพียง 2 เดือน

ต้านความชรา

แฮรี่ จี. พรุสส์ แพทยศาสตร์บัณฑิต ผู้เป็นนักวิจัยด้านการแพทย์ มีความเชื่ออย่างแรงกล้าและอุทิศตน เพื่อศึกษาเรื่องเมทาบอลิกซินโดรม4

ซึ่งอ้างกันว่าอาการเรื้อรังที่พบเห็นบ่อยในกลุ่มประชากรสูงอายุ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน น้ำหนักเกิน และภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง

ล้วนแต่เกี่ยวข้อง กับความผิดปกติของกลไกที่ควบคุมระดับกลูโคสและอินซูลิน อย่างน้อยก็บางส่วน

พรุสส์เชื่อว่าสิ่งที่เขาค้นพบในการศึกษาขั้นต้น แสดงให้เห็นว่าดี-แฟรกชั่นจากไมตาเกะมีผลดีต่อกลไกของกลูโคส/อินซูลิน และช่วยป้องกันการเกิดกลุ่มอาการผิดปกติที่เกี่ยวเนื่องกับความชรา

ประโยชน์ด้านการแพทย์อื่นๆ ของไมตาเกะ

ด้วยความพยายามที่จะเพิ่มความตระหนักรู้เรื่องประโยชน์ของไมตาเกะ กลุ่มผู้สนใจในสหรัฐจึงออกทุน ให้ทำการศึกษาที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์

นายแพทย์พรุสส์ หัวหน้าคณะผู้ทำการศึกษา ประกาศผลการค้นพบเบื้องต้น ในการประชุมของวิทยาลัยโภชนาการอเมริกัน ซึ่งจัดขึ้นในเมืองอัลบูเคอกี้ รัฐนิวเม็กซิโก เมื่อเดือนตุลาคม 1998

พรุสส์สาธิตให้เห็นว่าการป้อนสารสกัดไมตาเกะให้กับหนู ที่มีอาการความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงและส่งผลดีต่อกลไกของระดับอินซูลิน

ยิ่งไปกว่านั้น ระดับกลูโคสในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานยังลดลงถึง 50% ในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์

หลังจากบริโภคอาหารที่เสริมด้วยไมตาเกะ มีรายงานด้วยว่าไมตาเกะเป็นเหมือนยาระบายและช่วยให้ผมดก จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ไมตาเกะถูกเรียกขานว่า “เห็ดเริงระบำ”


1 เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวประเภทลิมโฟไซต์ ค้นพบครั้งแรกที่ไขกระดูกบริเวณไทมัส จึงใช้ชื่อว่า”ทีเซลล์”-ผู้แปล

2 สารโปรตีนที่หลั่งจากเซลล์เม็ดเลือดขาว-ผู้แปล

3 สารพิษที่ระบบภูมิคุ้มกันจะนำไปใช้เพื่อฆ่าเชื้อโรค-ผู้แปล

4 กลุ่มอาการผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งพบร่วมกันได้บ่อยได้แก่ ความผิดปกติของไขมันในเลือด ความดันโลหิตระดับน้ำตาล ซึ่งจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจและหลอดเลือด เชื่อว่าเป็นผลจากโรคอ้วนและภาวะดื้อต่ออินซูลิน-ผู้เเปล

Cr. มหัศจรรย์อาหารญี่ปุ่น