รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeเรื่องเล่าสะกิดสุขภาพ Health Story

ต้อกระจก (Cataract) คืออะไร?

ต้อกระจก คือ การที่แก้วตา ซึ่งปกติต้องใส เริ่มขุ่นมัวลงเรื่อยๆ จนมองเห็นได้ไม่ชัด ประสิทธิภาพการมองเห็นเสื่อมลง

เนื่องจากโปรตีนที่สะสมในแก้วตาสกัดกั้นแสงไม่ให้ถึงจอตา ต้อกระจกเป็นกันได้ ตั้งแต่อายุไม่มาก ด้วยสาเหตุหลายประการ

แต่ตัวการสำคัญคืออายุ เมื่ออายุมากขึ้น การกระจายตัวของน้ำ และโมเลกุลของโปรตีน ที่เคยเป็นปกติเกิดขัดข้อง

ส่งผลให้โปรตีนเกาะตัวเข้าด้วยกัน ดังนั้นจริงๆ แล้วต้อกระจกจึงเป็นปัญหาของการควบคุมน้ำในดวงตา

คำว่า “cataract” มาจากภาษากรีกว่า “katarraktes” ซึ่งมีความหมายว่า “น้ำตก” และ “ประตูน้ำ”

ต้อกระจก จำแนกได้อย่างน้อย 72 ชนิด ชนิดที่รู้จักมากที่สุด เรียกว่า “ต้อกระจกในผู้สูงอายุ (senile cataract)”

ซึ่งเป็นตัวการสำคัญ ทำให้ผู้สูงอายุตาบอด สืบเนื่องจากแก้วตาค่อยๆ เสื่อมลง

ประมาณครึ่งหนึ่งของชาวออสเตรเลีย อายุมากกว่า 65 ปี มีปัญหาสายตาพร่าเลือน ที่เกี่ยวข้องกับต้อกระจกชนิดนี้ในระดับใดระดับหนึ่ง

ต้อกระจกในผู้สูงอายุ มีอาการหนักขึ้นอย่างช้าๆ ได้ โดยปราศจากความเจ็บปวดหลายปี

ปกติแล้วจะเป็นทั้งสองข้าง บางรายสายตาจะพร่ามัวเล็กน้อยและไม่จำเป็นต้องรักษา แต่รายที่เป็นจนเห็น “รูม่านตาเป็นสีขาว” ถือได้ว่าต้อสุกแล้ว

ก่อนหน้านี้ ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดตา จะคอยให้ต้อกระจกสุกเต็มที่จึงค่อยผ่าตัดออก

แต่ด้วยเทคโนโลยีผ่าตัดซึ่งพัฒนาขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราจึงสามารถกำจัดออกได้แต่เนิ่นๆ และช่วยลดช่วงเวลาที่มองไม่เห็นให้น้อยลงได้

การผ่าตัดต้อกระจกสมัยใหม่ ไม่เจ็บปวดเลย และประสบความสำเร็จสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์

ในการผ่าตัด แก้วตาที่ขุ่นมัวจะถูกเอาออก สายตาคนไข้กลับมองเห็นได้ ดังเดิม

ผ่านแว่นตาคอนแท็กต์เลนส์ หรือผ่านการปลูกถ่ายอุปกรณ์พิเศษชนิดถาวร ที่รู้จักกันในชื่อเลนส์แก้วตาเทียม (intraocular lens)

การผ่าตัดต้อกระจกมีปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ ค่าใช้จ่ายสูง และหลังผ่าตัดมักเป็นขึ้นมาอีก

Cr.มหัศจรรย์แห่งร่างกาย