รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeเรื่องเล่าสะกิดสุขภาพ Health Story

อาการปวดศีรษะ

สาเหตุทางสรีรศาสตร์ของอาการปวดศีรษะ ยังไม่เป็นที่เข้าใจ อย่างถ่องแท้ แต่อย่างน้อยมี 4 ทฤษฎีหลัก ที่พยายามอธิบายสาเหตุของอาการปวดศีรษะ

1. ทฤษฎีที่เชื่อกันมากที่สุดคือ หลอดเลือดในหนังศีรษะ

ซึ่งนำเลือดไปเลี้ยงส่วนศีรษะและใบหน้า หดและขยายตัวผิดปกติ

ผนังเส้นเลือดแดงใหญ่จึงขยายไปกระตุ้นปลายประสาท สัมผัส รับความเจ็บปวดใกล้ผนังเหล่านี้

ส่วนสมองไม่รับรู้ความเจ็บปวดนี้ เนื่องจากไม่มีปลายประสาทสัมผัสเช่นว่านั้น

2. ทฤษฎีที่สอง กล้ามเนื้อในศีรษะและคอ เกิดการหดเกร็งและกระตุก

ซึ่งเป็นการไปกระตุ้นปลายประสาทสัมผัสรับความเจ็บปวด

3. ทฤษฎีที่สาม เกิดจากคลื่นไฟฟ้าอ่อนๆ ผ่านผิวสมอง

ส่งผลต่อออกซิเจนที่ผ่านหลอดเลือดไปเลี้ยงหนังศีรษะ

ทำให้หลอดเลือดบวมและไปกระตุ้นปลายประสาทสัมผัสรับความเจ็บปวด

4. ทฤษฎีที่สี่ มีสาเหตุจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง

รวมทั้งการทำงานของสาร ส่งผ่านประสาท (neurotransmitters) ในสมอง1

อาการปวดศีรษะมีกี่ประเภท?

นอกเหนือจากที่เรารู้กันว่า สาเหตุของอาการปวดศีรษะ มาจากไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ ไซนัส และอื่นๆ แล้ว

ยังจำแนกได้อย่างน้อยอีก 3 ประเภท คือ ปวดศีรษะจากความเครียด ปวดศีรษะไมเกรน และปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster headache)

ปวดศีรษะธรรมดาที่สุด คือ ปวดเพราะเครียด จะมีอาการปวดแน่น ปวดตุ๊บๆ โดยเฉพาะบริเวณรอบๆ ขอบหมวก

ปวดไมเกรน เป็นอาการปวดตุบๆ ซีกใดซีกหนึ่ง ของศีรษะ คลื่นเหียน และมีความรู้สึกไวต่อเสียง

อาจจะมีอาการเตือนล่วงหน้าก่อนเป็นไมเกรน (เช่น มีความผิดปกติทางสายตา ประสาท หรืออารมณ์)

ชาวออสเตรเลียประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์เป็นไมเกรนแบบที่ปวดเป็นครั้งคราว เป็นๆ หายๆ และแบบที่มีอาการรุนแรงบ่อยครั้ง

อาการปวดศีรษะที่รู้จักกันน้อยที่สุด คือการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ จะมีอาการรู้สึกปวดจี๊ด บริเวณข้างใดข้างหนึ่งของศีรษะ และใบหน้า

กินเวลาราว 20 นาที ถึง 2 ชั่วโมง อาการปวดจะเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง หรือหลายครั้งในหนึ่งวัน หลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน

หลังจากนั้นจะหายไปพักใหญ่ แล้วกลับมาเป็นอีกโดยไม่ทราบสาเหตุ2

ใน 3 ประเภทข้างต้นนั้น ปวดศีรษะจากความเครียดพบบ่อยที่สุด ส่วนไมเกรนมักเกิดกับหญิงมากกว่าชาย

แต่ชายมีอาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ได้มากกว่าหญิง

“มนุษย์เป็นสัตว์ประเภทเดียวที่ปวดศีรษะ”

อาการปวดศีรษะเป็นกรรมพันธุ์หรือไม่?

เป็นไปได้ จากการศึกษาวิจัยพบว่า เราบางคนอาจ “ปวดศีรษะมาแต่เกิด” ทฤษฎีทางการแพทย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับ ระบุว่า

บางคนเป็นโรคปวดศีรษะมาแต่กำเนิด

ดร.โจเอล แซปเปอร์(Joel Saper) ยืนยันว่า “ผู้ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการปวดศีรษะเรื้อรัง

ส่วนใหญ่ เกิดมาพร้อมสภาพทางชีววิทยาที่ทำให้พวกเขามีแนวโน้มปวดศีรษะ หากคุณเกิดมาพร้อมกับสภาพที่ว่านี้

คุณก็ต้องเผชิญ กับปัจจัยมากมายหลายอย่าง ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นมาได้

เช่น ดิน ฟ้า อากาศ ที่เปลี่ยนแปลงหรือสถานการณ์เลวร้ายในที่ทำงาน”3

เขาบอกว่า อาการปวดศีรษะอันดับแรกที่ทำให้คนไข้ไปพบแพทย์ คือปวดศีรษะเรื้อรัง ซึ่งเกิดได้ในคน 1 คนในทุกๆ 20 คน

“ผลการศึกษาวิจัยครั้งล่าสุด พบว่า การเปลี่ยนแปลงชีวเคมีในสมอง เป็นสาเหตุของแนวโน้มอาการปวดศีรษะ”

อย่างไรก็ตาม จะต้องพยายามศึกษาต่อไป เพื่อให้ทราบว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีอะไรบ้าง

เชื่อกันว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับระดับของซีโรโทนิน (serotonin) ในสมอง ซีโรโทนิน เป็นยากล่อมประสาทตามธรรมชาติ

เขาให้ความเห็นว่า แพทย์ส่วนใหญ่มักแนะนำให้คนไข้ที่มีอาการปวดศีรษะกินแอสไพริน

ดังนั้น เวลาปวดศีรษะ คนไข้จึงไม่ไปพบแพทย์ แต่เลือกกินแอสไพรินแทน

ดร.แซปเปอร์บอกว่านั่นไม่ใช่ทางเลือกดีที่สุด สำหรับผู้ต้องทรมานกับอาการปวดศีรษะที่เป็นๆ หายๆ

พวกเขาควรไปพบแพทย์ หากไม่ใช่สาเหตุทางการแพทย์แล้ว

“เราก็รู้ว่าอาการปวดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสภาพทางชีววิทยา (ของคนคนนั้น) ที่มีความผิดปกติ”

“ขณะนี้เราทราบชัดแล้วว่า การซื้อยาแก้ปวดที่วางขายอยู่ตามร้านมากินมากกว่า 2-3 วันต่อสัปดาห์ติดต่อกันนานๆ จะทำให้อาการปวดศีรษะยิ่งเลวร้ายลง”

สัดส่วนของหญิงที่ปวดศีรษะมากกว่าชายสองเท่า

หญิงที่อาศัยอยู่ในชนบทหรือเขตห่างไกลจากตัวเมือง มีโอกาสปวดศีรษะมากกว่าหญิงที่อาศัยอยู่ในเมือง

เราเป็นไมเกรนได้อย่างไร?

จากการศึกษาพบว่า ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้เป็นไมเกรน เคยมีอาการผิดปกติมาแล้ว 3 แบบ

แบบแรก ในวัยเด็กมีอาการวิตกกังวลมากเกินไป

แบบที่สอง ในวัยแรกรุ่นเริ่มปรากฏอาการไมเกรน

แบบที่สาม อีก 3-4 ปีต่อมา มีอาการซึมเศร้าหดหู่ใจอย่างรุนแรง

ดร.แคทลีน เมริแก็งแกส (Kathleen Merikangas) กล่าวว่า รูปแบบการค่อยเป็นค่อยไปดังกล่าว ชี้ให้เห็นอาการหรือกลุ่มอาการจำเพาะ

เธอกับเพื่อนร่วมงาน พบความจริงที่น่าประหลาดใจ ตรงกันข้ามกับ ความเชี่อ ก่อนหน้านี้ ว่า

ความวิตกกังวลไม่ใช่สาเหตุของไมเกรน และไมเกรนก็ไม่ใช่สาเหตุของความซึ่มเศร้า4

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกลุ่มนี้พบหลักฐานว่า กลไกทางเคมีในระบบประสาท นำไปสู่อาการวิตกกังวล ไมเกรน และซึมเศร้า

ซึ่งเกี่ยวโยงกันในฐานะตัวการที่เป็นต้นเหตุซึ่งกันและกัน

ตัวอย่างที่ได้จากการศึกษา คือ บางครั้งอาการปวดศีรษะไมเกรน ก็ตอบสนองต่อยาต้านอาการซึมเศร้าและยารีเซอร์ปีน (reserpine)

ที่ใช้ลดความดันโลหิตซึ่งเป็นยากล่อมประสาท ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าและไมเกรนได้ในบางคน

ขณะเดียวกัน ยารีเซอร์ปีน ก็มีผลไปลดสารโดปามีน (dopamine) และสารเคมีที่ทำหน้าที่เป็นสื่อ (chemical messengers) ในสมอง

ดร.เมริแก็งแกส และทีมงาน ให้ความเห็นว่า จนถึงปัจจุบัน นักวิจัยขาดพยานหลักฐานที่หนักแน่นพอจะเชื่อมโยงไมเกรนกับความวิตกกังวลเข้าหากัน

จริงๆ แล้ว พวกเขาไม่ได้มองหาความเชื่อมโยงทางสรีรวิทยาของสองอาการนี้

ส่วนรายงานเก่าๆ ที่พูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างไมเกรนกับความวิตกกังวลนั้น

ตามความเป็นจริง ได้มาจากการประเมินอาการคนไข้ ไมเกรนแต่ละคน ที่ไปรับการบำบัดรักษาเพียงครั้งเดียว

ซึ่งนำไปสู่ความเชื่อที่ไม่ถูกต้องว่าอาการซึมเศร้าอาจนำไปสู่การเป็นไมเกรน

ทีมดังกล่าวได้ศึกษา อาสาสมัครจำนวน 457 คน ในเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

กลุ่มตัวอย่างนี้ ไม่ได้มาจากการสุ่มเลือกเพียงอย่างเดียว เพราะ 2 ใน 3 ของอาสาสมัคร ที่เลือกมาจากรายชื่อต้นๆ ของกลุ่มคนที่มีอาการทางจิต

นักวิจัยได้สัมภาษณ์คนเหล่านั้นในปี ค.ศ. 1978 ค.ศ. 1981 และ ค.ศ. 1986 แล้ว

ให้กรอกคำตอบในแบบสอบถาม เกี่ยวกับ อาการปวดศีรษะและอาการทางจิตปีละ 2 ครั้ง

ในการสัมภาษณ์ครั้งที่ 3 อาสาสมัครทั้งหมดมีอายุระหว่าง 27-28 ปี

พวกเขาพบว่า 13 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้ารับการทดสอบ มีอาการปวดหัวไมเกรนธรรมดา โดยไม่มีอาการทางตาหรือประสาทนำมาก่อน ในลักษณะเป็นสิ่งบอกเหตุ

ไมเกรนเกิดขึ้นบ่อยมาก กับผู้รับการทดสอบ ที่เป็นกลุ่มคน ซึ่งคัดเลือกมาจากผู้มีอาการทางจิต

เมื่อย้อนไปดูรายงานของแต่ละคน ปรากฏว่า ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้เป็นไมเกรน มีความกังวลและกลัวสภาพสังคมจนเกินเหตุ ตอนอายุ 12 ปี

เริ่มมีอาการไมเกรนตอนอายุ 14 ปี ส่วนอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างอายุ 17-18 ปี

“ขณะนี้มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้แล้วว่า ควรให้ความสำคัญกับความเชี่อมโยงระหว่างความวิตกกังวล ไมเกรน และอาการซึมเศร้า” ดร.เมริแก็งแกสกล่าว5


1 John, I., Why Can’t You Tickle Yourself ? And Other Bodily Curiosities, New York, Warner Books, 1993, pp.53-55.

2 Xenakis, A., Why Doesn’t My Funny Bone Make Me Laugh?, New York, Villard Books, 1993, pp.75-80.

3 ดร. โจเอล แซปเปอร์ เป็นศาสตราจารย์ คลินิกด้านการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน และผู้อำนวยการ Michigan Head Pain and Neurological Institute.

4 ดร.แคทลีน เมริแก็งแกส มาจากคณะแพทย์ศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล

5 Merikangas, K., Angst, J., & Isler, H., “Migraine and Psycho pathology”, Archives of General Psychiatry, 199., 47:849-853.

Cr.มหัศจรรย์แห่งร่างกาย