ทำไมคนกินมังสวิรัติ ถึงเป็นโรคหลอดเลือดตีบ/อุดตัน ได้อย่างไร
ปฏิวัติน้ำมันพืช (ตอนที่ 10) :
จาก ASTV ผู้จัดการรายวัน 20 ธันวาคม 2556 19:14 น. ณ บ้านพระอาทิตย์โดย…ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเกิดคำถามมากสำหรับคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติว่า…
ทำไมคนจำนวนหนึ่งยังเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดตีบหรืออุดตันได้ ทั้งๆที่คนเหล่านั้นไม่รับประทานอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์
ตัวอย่างเช่น เจ้าตำรับสูตรอาหารชีวจิต เน้นการรับประทานธัญพืช ผัก ปลาบ้างเล็กน้อย
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ อย่าง ดร.สาทิส อินทรคำแหง ได้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ?
พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติมาอย่างยาวนานหลายสิบปี ปฏิบัติธรรมถือศีลเคร่งครัด ปฏิบัติตามอิทธิบาทสี่ รับประทานอาหารมื้อเดียว ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน และล้างพิษตับด้วย
แต่ปรากฏว่าพบหลอดเลือดตีบหรืออุดตันบริเวณหัวใจถึง 3 เส้น จนต้องเข้ารักษาด้วยการทำบอลลูนจึงกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้
จึงเกิดคำถามว่าทำไมบุคคลสำคัญในด้านสุขภาพ 2 ท่านนี้จึงมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดตีบได้อย่างไร?
จริงอยู่ที่ว่าการปฏิบัติตนดูแลสุขภาพไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด
มนุษย์เราก็ไม่สามารถเป็นอมตะนิรันดร์กาลได้
และเราทุกคนก็มีอายุขัยของตัวเองไม่เท่ากันซึ่งแล้วแต่บุญกรรมที่ทำมา และวันใดที่เราหมดอายุขัย เราทุกคนก็ต้องเจ็บป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่งก่อนที่จะจากโลกนี้ไป
เพียงแต่การที่เราเข้าใจในบางเรื่องที่ยังไม่เข้าใจในวันนี้ก็จะทำให้เรามีโอกาสช่วยเหลือคนอื่นให้ได้ดีมากขึ้น คนส่วนใหญ่ในยุคนี้มักจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันพืชในการทำอาหารได้
ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ธัญพืช ผัก ข้าว ไข่ไก่ โดยส่วนใหญ่น้ำมันพืช ที่เราใช้ในการทำความร้อนนั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง
เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา ฯลฯ
น้ำมันพวกนี้เมื่อมีความไม่อิ่มตัวสูง ก็จะเปิดช่องทำให้เกิดการทำปฏิกิริยา กับออกซิเจนได้ง่ายหรือที่เรียกว่าออกซิเดชั่น
ทำให้เกิดการหืนได้ง่าย หรือ เมื่อโดนความร้อนก็จะทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนเกิดเป็นไขมันทรานส์ อันเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดการอักเสบและอุดตันของหลอดเลือด รวมถึงโรคมะเร็งได้ด้วย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้คนไทยสมัยก่อนที่ใช้น้ำมันอิ่มตัว ทั้งน้ำมันมะพร้าว กะทิ และน้ำมันหมู
กลับไม่พบอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดมากเหมือนคน ปัจจุบัน
การเกิดของโรคหัวใจไม่สัมพันธ์กับปริมาณคอเลสเตอรอลในหลอดเลือดแต่ประการใด
งานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2537 ที่ได้เคยเกิดงานวิจัยครั้งใหญ่จากการสำรวจสถิติกลุ่มตัวอย่างถึง 3,641 คน
โดยนักวิชาการมหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลวาเนีย เมืองฟิลาเดเฟีย มลรัฐเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
เพื่อสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณคอเลสเตอรอลและโรคหัวใจ
ซึ่งจัดทำโดย Kinosian, B; Click, H; and Garland, G.1994 ในหัวข้อ “Cholesterol and coronary heart disease: Predicting risks by levels and ratios.” ตีพิมพ์ใน Ann. Internal Med. 121:641-7
ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ให้คำตอบว่า
การกำหนดปริมาณเกณฑ์การใช้คอเลสเตอรอลในกระแสเลือดที่อ้างว่าจะทำให้เกิดโรคหัวใจนั้น ไม่สามารถชี้ชัดได้เลย
และเมื่อเก็บสถิติแล้ว กลับพบว่าความเสี่ยงต่อโรคหัวใจน่าจะใช้วิธีอื่นวัดน่าจะถูกต้องมากกว่า
ความสัมพันธ์ที่สำคัญที่จะต้องพิจารณาเสมอคือ
ปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดต้องไม่เกิน 5 เท่าของ HDL (High Density Lipoprotein) หรือที่วงการแพทย์มักเรียกว่าไขมันชนิดดี
หมายถึงว่ายิ่ง HDL เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ อัตราการความเสี่ยงเกิดปัญหาเรื่องการอุดตันของหลอดเลือดหรือหลอดเลือดตีบก็จะลดลงไปด้วย
เป้าหมายการลดหรือป้องกันโรคหลอดเลือดตีบและหัวใจ
จึงไม่ใช่การลดคอเลสเตอรอล (เพราะคอเลสเตอรอลมีความจำเป็นต่อร่างกายและส่วนใหญ่เกือบ 80% ร่างกายเราสังเคราะห์เองจากตับ) แต่เราต้องหาทางเพิ่ม HDL ให้มากขึ้น
การเพิ่ม HDL จากการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ใน J.Manag .Care Pharm 2008
พบว่า high triglycerides และ low HDL- cholesterol ไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นโรคหัวใจ
การทำให้คนไข้ LDL ต่ำเหลือประมาณต่ำกว่า 130
การเป็นโรคหัวใจก็ไม่ลดลง แต่พบว่าการเพิ่ม HDL การเป็นโรคหัวใจก็ลดลงทันที”
“มีรายงานวิจัยการเพิ่ม HDL-C ลงพิมพ์ใน Postgrand.Med.J.ปี 2008 พบว่า
การเพิ่ม HDL –C เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการลดอัตราการเป็นโรคหัวใจในคนไข้ ซึ่งการรักษาตัวยา Statin LDL ต่ำมากแล้ว อาการก็ยังไม่ดีขึ้น แต่ถ้าเพิ่ม HDL แล้ว คนไข้โรคหัวใจ และ โรคต่างๆกินน้ำมันมะพร้าวเพิ่ม HDL ได้ดีกว่าทั้งหมด”
ทั้งนี้น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันชนิดเดียวในโลกที่มีกรดไขมันอิ่มตัวมากที่สุด และเป็นกรดไขมันสายสั้นและปานกลางมากที่สุดในโลก
จึงทำให้ดูดซึมสร้างพลังงานให้กับตับได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้อัตราการเผาผลาญเป็นพลังงานสูงขึ้น
เมื่ออัตราการเผาผลาญสูงขึ้น ตับก็จะผลิต HDL เพื่อไปเก็บคอเลสเตอรอลและ LDL ตามหลอดเลือดส่งมายังที่ตับ
เพื่อนำคอเลสเตอรอลเหล่านั้น ไปผลิตเป็นฮอร์โมนหลายชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย น้ำดี และเยื่อหุ้มเซลล์ เหตุเพราะการเผาผลาญในร่างกายสูงขึ้น
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น น้ำมันมะพร้าวจึงเป็นน้ำมันที่ทำให้เพิ่ม HDL โดยตรง และสามารถลดอัตราความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดตีบและอุดตันได้!!!
หลายคนรู้เพิ่มมากขึ้นในวันนี้ ว่าการบริโภคไขมันอิ่มตัวจากเนื้อสัตว์ในยุคนี้ก่อให้เกิดโรคมากมายมหาศาลจึงได้หยุดรับประทานไป
โดยเฉพาะวงการปศุสัตว์ทั้งหลายที่มีสารพิษตกค้างจากยาเคมี ฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ สารเร่งเนื้อแดง ฟอร์มาลีน ฯลฯ
ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดโรคร้ายตามมาได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะโรคมะเร็ง
แต่เมื่อหลายคนงดเนื้อสัตว์จึงต้องหันไปบริโภคโปรตีนจากธัญพืชแทน
ธัญพืชที่เราบริโภคส่วนใหญ่นั้นก็ล้วนแล้วแต่มีกรดไขมันที่เริ่มไม่อิ่มตัวตำแหน่งที่ 6 (ตำแหน่งคาร์บอนแขนคู่ทำให้เริ่มตำแหน่งไม่อิ่มตัวตำแหน่งที่ 6) ที่เรียกว่า “กรดไลโนเลอิก” หรือที่เรียกว่า โอเมก้า 6 เป็นจำนวนมาก และจะยิ่งมากขึ้นไปอีกด้วยการใช้น้ำมัน
ไขมันที่ได้จากธัญพืชส่วนใหญ่ก็มีโอเมก้า 6 อยู่ในระดับสูงด้วย คราวนี้ก็จะเกิดความไม่สมดุลในการบริโภคกรดไขมันถึง 2 ชั้น
ทั้งจากธัญพืชที่เราบริโภคแทนโปรตีน และจากน้ำมันจากธัญพืชที่นำมาผัดหรือทอด
ผลก็คือคนที่หันมาทานมังสวิรัติในลักษณะเช่นนี้ ก็จะมีกรดไขมันไลโนเลอิก หรือ โอเมก้า 6 มากเกินไปจนขาดสมดุล
ผลที่ตามมาเมื่อเกิดการอักเสบของหลอดเลือด จากกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งเกิดทั้งอนุมูลอิสระได้มากและเกิดไขมันทรานส์ได้ง่าย
ถ้ามีกรดไขมันชนิดโอเมก้า 6 มากเกินไปมากๆ
ผลก็คือผนังหุ้มเซลล์จะเสียหายอย่างรุนแรงและปลดปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า Cytokines ออกมาทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังอย่างรุนแรง
หลังจากนั้นจะพยายามรักษาตัวเองด้วยการหยุดการอักเสบนั้น
ด้วยการ นำไขมัน ลิ่มเลือด และแคลเซียม ไปพอก หลอดเลือดจะแข็งตัว
เมื่อพฤติกรรมการบริโภคเช่นนี้ปล่อยไว้ยาวนานขึ้นก็ทำให้หลอดเลือดอุดตันได้ในที่สุด
นักโภชนาการจำนวนหนึ่งเชื่อว่า
เราจำเป็นต้องบริโภคให้เกิดความสมดุลของกรดไขมันด้วย
โดยสัดส่วนที่เหมาะสมก็คือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวของโอเมก้า 6 นั้น
ควรมีสัดส่วนไม่เกิน 4 เท่าตัว ของ กรดไลโนเลนิค หรือ กรดไขมันอิ่มตัวที่เริ่มไม่อิ่มตัวในตำแหน่งคาร์บอนที่ 3 ที่เรียกกันว่า โอเมก้า 3
ซึ่งมีในน้ำมันปลา สาหร่ายบางชนิด และ ธัญพืชบางชนิดที่ขึ้นในอุณหภูมิเย็นๆ
โดยเชื่อว่าน้ำมันที่เป็นโอเมก้า 3 นั้น
จะลดการอักเสบของหลอดเลือด
ส่งผลทำให้ลดคอเลสเตอรอลที่พอกตามหลอดเลือด ลดลิ่มเลือด
แต่ถ้ารับประทานมากเกินพอดีก็จะทำให้เลือดเหลว อ่อนตัว แข็งตัวยาก ดังนั้นสัดส่วนที่เหมาะสมในการบริโภคคือ
กรดไขมันโอเมก้า 6 ไม่ควรเกิน 4 เท่าของกรดไขมันโอเมก้า 3
แต่เมื่อลองพิจารณาน้ำมันถั่วเหลืองกลับปรากฏว่า มีปริมาณโอเมก้า 6 สูงมากถึง 54% และมีโอเมก้า 3 เพียง 7 % หมายความว่า มีโอเมก้า 6 สูงกว่าโอเมก้า 3 ถึง 7 เท่าตัว
น้ำมันดอกทานตะวันอันตรายหนักไปกว่านั้น คือ มีปริมาณโอเมก้า 6 สูงถึง 68% และมีโอเมก้า 3 เพียง 1% หมายความว่า มีโอเมก้า 6 สูงกว่าโอเมก้า 3 ถึง 68 เท่าตัว
น้ำมันงา มีปริมาณโอเมก้า 6 อยู่ในระดับสูงถึง 45% โดยที่ไม่มีโอเมก้า 3 เลย
แม้น้ำมันรำข้าวจะจัดว่าเป็นน้ำมันชนิดที่ค่อนข้างดี
เพราะมีวิตามินอี ต้านอนุมูลอิสระสูง ทั้งในกลุ่มโทโคฟีรอล และไทโคโตรอีนอล และโอรีซานอล ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย
แต่น้ำมันรำข้าวก็ยังไม่เหมาะกับการผัด ทอด หรือโดนความร้อนอยู่ดี
เพราะอย่างไรเสีย น้ำมันชนิดนี้ก็ยังเป็นไขมันไม่อิ่มตัว
รวมกันสูงถึง 82% โดยเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งสูงถึง 37% และเป็นไขมันไม่อิ่มตัว 1 ตำแหน่งอีก 45%
หากโดนความร้อนก็จะทำให้อนุมูลอิสระเข้าโจมตีได้
และหากนำมาผัดทอดซ้ำในอุณหภูมิสูงก็เกิดไขมันทรานส์ได้ และทำให้เกิดการอักเสบ ของหลอดเลือดได้เช่นกัน
แต่นักชีวเคมีชื่อดัง ดร.เรย์ พีท จากมหาวิทยาลัยโอเรกอน สหรัฐอเมริกา
โต้แย้งว่า น้ำมันที่เรียกว่า โอเมก้า 3 หรือกรดไลโนเลนิกที่หลายคนตามหาเพราะคิดว่ามีประโยชน์นั้น
แท้ที่จริงแล้วกรดไขมันชนิดนี้ก็ไม่อิ่มตัวเช่นกัน
กรดไขมันเหล่านี้เกิดขึ้นในอุณหภูมิที่เย็น ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ที่มีอุณหภูมิที่ร้อนกว่า จึงถูกอนุมูลอิสระทำลายจนหมดสิ้น
เป็นที่ทราบดีว่าโอเมก้า 3 มีมากในปลา
แต่ปรากฏว่างานวิจัยของ Brouwer และคณะ พ.ศ. 2552 และ Saravanan และคณะ พ.ศ. 2553 ของมหาวิทยาลัยแห่งวาเก็นนิงเก้น แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์
ได้ศึกษาชายหญิงอายุเกิน 55 ปี จำนวน 5,299 คน อยู่ชานเมืองอัมเสตอร์ดัมพบว่า
กลุ่มตัวอย่างที่ชอบกินปลาและไม่ชอบกินปลาไม่มีผลต่อความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
ต่อมาผู้วิจัยได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารโรคหัวใจแห่งยุโรป สรุปว่า
“กรดไขมันจำเป็นที่เป็นโอเมก้า 3 ที่มีอยู่ในน้ำมันปลา จะมีสรรพคุณช่วยป้องกันโรคหัวใจ เหมือนกับที่มีข่าวว่ามันช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้นั้น ไม่เป็นความจริง!!!”
แต่ลองคิดดูว่าปกติคนที่ชอบรับประทานเนื้อสัตว์มาก ก็ต้องใช้ความร้อนสูงกว่าการผัดทอดผักหรือธัญพืช
เพราะต้องการทำให้สุกจึงต้องใช้น้ำมันมาก ในบางกรณีต้องทอดจนน้ำมันท่วม ยิ่งใช้ความร้อนสูง
น้ำมันเหล่านี้ก็จะกลายเป็นไขมันทรานส์ และเป็นสารก่อมะเร็งได้ในที่สุด
สรุปว่าเราเลือกบริโภคธัญพืชมาก แล้วผัดหรือทอดด้วยน้ำมันพืชไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง
(น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา ฯลฯ)
ก็มีโอกาสทำให้หลอดเลือดอักเสบ ตีบ และอุดตันได้ทั้งนั้น
แต่ถ้ารับประทานกับเนื้อสัตว์มาก
นอกจากจะมีโอกาสทำให้หลอดเลือดอักเสบแล้ว ยังจะได้โรคมะเร็งตามมาได้ด้วย
การอักเสบของหลอดเลือดนั้น
ไม่ได้เกิดขึ้นจากเฉพาะไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งที่ผ่านกรรมวิธีหรือผ่านความร้อนสูงเท่านั้น
(เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา ฯลฯ)
แต่ยังรวมถึงการอักเสบจากการบริโภคน้ำตาลมาก
ทั้งจากการรับประทานหวานมาก หรือรับประทานอาหาร พวกแป้งขัดขาวมากเกินไปได้ด้วย
ถ้าเราพิจารณาจาก ดร.สาทิส อินทรกำแหง ใช้สูตรชีวจิต
โดยเน้นเรื่องการบริโภคโปรตีนจากธัญพืชในสัดส่วนค่อนข้างมาก ซึ่งย่อมหมายความว่าการบริโภคเช่นนี้ย่อมมีสัดส่วนของโอเมก้า 6 ค่อนข้างโดดมาก
ในขณะที่ พลตรีจำลอง ศรีเมือง รับประทานโปรตีนจากธัญพืชเช่นกัน
เดิมใช้น้ำมันถั่วเหลืองมาอย่างยาวนาน ต่อมาใช้น้ำมันรำข้าว ซึ่งล้วนแล้วแต่
เป็นไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งทั้งสิ้น และชอบรับประทานอาหารรสจืดโดยไม่ใส่เครื่องเทศใดๆ
ชาวอินเดียที่รับประทานอาหารมังสิวิรัติมาก แม้จะบริโภคโปรตีนจากธัญพืชค่อนข้างสูง
แต่พวกเขาก็รับประทานควบคู่ไปกับเครื่องเทศ ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าผักและผลไม้
อันเป็นการลดข้อด้อยของธัญพืชที่มีกรดไขมัน น้ำมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งที่เปิดช่องให้อนุมูลอิสระโจมตีได้มาก
การวัดค่าสารต้านอนุมูลอิสระนั้น
สามารถวัดได้หลายวิธีและยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ แต่การวัดวิธีหนึ่งที่เรียกว่า Oxidation Radical Absorbance Capacity (ORAC)
ซึ่งจัดทำฐานข้อมูลในองค์กรในเครือข่ายโดย USDA ของสหรัฐอเมริกา ได้เคยจัดอันดับเมื่อปี พ.ศ. 2555 ว่าสารต้านอนุมูลอิสระที่มากที่สุด พบว่าส่วนใหญ่อยู่ใน “เครื่องเทศ” และ “สมุนไพร”
เช่น เมล็ดซูแมค ( Sumac: สมุนไพรของชาวตะวันออกกลาง) มีค่า ORAC สูงถึง 312,400 μmol ต่อ 100 g, ก้านพลู มีค่า ORAC สูงรองลงมาคือ 290,283 μmol ต่อ 100 g, เครื่องเทศ ออริกาโน มีค่า ORAC 175,295 μmol ต่อ 100 g
ส่วนที่เรารู้จักกันดีในภูมิภาคนี้ก็คือ อบเชย (อันดับ 7) มีค่า ORAC 131,240 μmol ต่อ 100 g, ขมิ้น (อันดับ 8) มีค่า ORAC 127,068 μmol ต่อ 100 g
อันที่จริงมีเครื่องเทศอีกหลายชนิดของไทยที่ไม่ได้มีโอกาสตรวจวัดค่า ORAC
แต่เครื่องเทศ เช่น หัวหอม กระเทียม พริก พริกไทยดำ ต่างมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงทั้งสิ้น
ซึ่งคนอินเดียที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์จึงมักรับประทานกับธัญพืชควบคู่ไปกับเครื่องเทศและสมุนไพรด้วย
ด้านหนึ่งเป็นการขับลม อีกด้านหนึ่งคือลดทอนข้อด้อยของกรดไขมันไม่อิ่มตัวจากธัญพืชที่เปิดโอกาสให้อนุมูลอิสระโจมตีมาก
ในความเห็นของผมจากการศึกษางานวิจัยหลายชิ้นจึงสรุปสำหรับการป้องกันโรคหัวใจจากการบริโภคว่า
1. เราควรใช้น้ำมันมะพร้าว ซึ่งมีกรดไขมันอิ่มตัวสูงที่สุดในการผัดหรือทอดอาหาร เพื่อป้องกันไม่ใช้น้ำมันที่ไม่อิ่มตัวชนิดอื่น โดยเฉพาะคนที่รับประทานมังสวิรัติที่ได้มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวโอเมก้า 6 ซึ่งบริโภคโปรตีนจากธัญพืช ควรต้องใช้น้ำมันมะพร้าวสำหรับการผัดทอด และควรดื่มสกัดเย็นในช่วงเช้าเพื่อเพิ่มปริมาณ HDL ให้สูงขึ้น
2. แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงเรื่องน้ำมันโอเมก้า 3 ว่าดีจริงหรือไม่ เราควรสลับรับประทานกรดไขมันชนิดอื่นบ้าง เช่น งาขี้ม้อน สาหร่ายเกลียวทอง ฯลฯ เพื่อให้ได้โอเมก้า 3 มาลดสัดส่วนของ โอเมก้า 6 บ้าง
3. การรับประทานอาหารที่เน้นธัญพืชที่มาแทนเนื้อสัตว์ ควรพิจารณาในการรับประทานควบคู่กับเครื่องเทศด้วย เพื่อเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระและลดข้อด้อยของกรดไขมันจากธัญพืชเหล่านั้นที่ไม่อิ่มตัวมาก
4. ควรลดแป้งและน้ำตาลให้น้อยลง และควรทานผักให้มากขึ้น โดยต้องเข้าใจว่าไม่ว่าโปรตีนและไขมันต่างก็ออกฤทธิ์เป็นกรดทั้งสิ้น ไม่ว่าในรูปของ แป้ง น้ำตาล ไขมันและโปรตีน จึงควรรับประทานให้สัดส่วนของอาหารที่พอดีพอเพียง นั่นก็คือพยายามรับประทานผัก ผลไม้ ที่ให้ฤทธิ์ด่างให้มากขึ้นนั่นเอง และควรดื่มน้ำให้มากพอ 8 แก้วต่อวัน