จูงมือเข้าครัวรวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledge

6 หลักการจัดอาหารสุขภาพสำหรับพระสงฆ์ 1/3

เมื่อเรามีการทำบุญตักบาตรกับพระสงฆ์ บางคนจะเลือกซื้ออาหารที่อร่อยและตัวเองชอบ ในขณะที่บางคนจะเลือกซื้ออาหารที่เป็นถุงๆ จนพระสงฆ์องค์เจ้า มีสถิติเป็น โรคเสื่อม เบาหวาน ความดัน หัวใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้นการเลือกถวายอาหารแก่ท่าน ควรคำนึงถึงสุขภาพ เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดในการทำบุญ

แต่หลายๆ ท่านอาจจะไม่ทราบจะเลือกถวายอะไร เพราะชอบเลือกที่อร่อย และชอบกินเอง

บทความนี้ จะมาแถลงไข 6 หลักการ การจัดอาหารสุขภาพสำหรับพระสงฆ์ ตอนที่ 1/3

หลักที่ 1…ตักบาตรด้วยอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย

อาหารหมู่ที่ 1 เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ และงา

อาหารหมู่นี้ ช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย

ปลา เป็นแหล่งโปรตีนที่ดี มีไขมันต่ำ

โปรตีน เป็นโปรตีนชั้นหนึ่ง เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ เนื้อปลาประกอบด้วย กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย เนื้อปลาลักษณะตามธรรมชาติ มีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันน้อย ปราศจากเส้นเอ็นที่เหนียว แข็ง จึงย่อยง่าย

ไขมัน เนื้อปลาประกอบด้วย ไขมันที่มีคุณภาพดี คือ กรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย และเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว โดยเฉพาะกรดไลโนอิก (C 18:2) และเป็นกรดโอเลอิก (C18:1) ซึ่งมีคุณสมบัติลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด

และเนื้อปลายังประกอบด้วย กรดไขมันไม่อิ่มตัว กลุ่มโอเมก้า-3 ที่มีความสำคัญต่อร่างกายอีก 2 ชนิด ได้แก่ EPA (C20:5 n-3) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารไอโคซานอยด์ ที่ีมีคุณสมบัติ ลดการจับตัวของเกร็ดเลือด

นอกจากนี้ร่างกายยังสามารถนำกรดไขมัน EPA ไปสร้างสารที่ช่วยการขยายตัวของหลอดเลือด และ DHA (C22:6 n-3) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเซลล์สมอง และเรตินาของดวงตา

นอกจากนี้ ปลายังมีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ อีกมากมาย เช่น วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง ไนอะซิน วิตามินเอ แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไอโอดีน เป็นต้น

ถ้ากินปลาเล็กปลาน้อย รวมทั้งปลากระป๋อง จะได้แคลเซียม ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ส่วนปลาทะเลทุกชนิดมีสารไอโอดีนป้องกันไม่ให้เป็นโรคขาดสารไอโอดีน

เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อสัตว์ให้โปรตีนแก่ร่างกาย ควรปรุงอาหารหรือซื้ออาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ส่วนเนื้อสัตว์ที่ติดมัน เช่น หมูสามชั้น เนื้อสัตว์ที่มีมัน และไขมันที่แทรกอยู่ในเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะในเนื้อหมูจะมีไขมันแทรกอยู่มากกว่าเนื้อสัตว์ทุกชนิดควรหลีกเลี่ยง

ไข่ เป็นอาหารที่ให้สารโปรตีนที่มีคุณภาพดีที่สุด มีแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็น ไข่ ราคาถูก หาซื้อง่าย ปรุงและบริโภคง่าย

พระสงฆ์ที่ไม่มีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูง ควรฉันเฉพาะไข่ขาวเท่านั้น เพราะไข่ขาวไม่มีคอเลสเตอรอล ทั้งไข่ไก่และไข่เป็ดมีคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่แตกต่างกัน

ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ เป็นแหล่งโปรตีนที่ดี หาง่าย ราคาถูกและมีหลากหลายชนิด ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วลิสง เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วเมล็ดแห้ง ได้แก่ เต้าหู้ เต้าเจียว น้ำนมถั่วเหลือง และอาหารที่ทำจากถั่ว เช่น ถั่วกวน ขนมไส้ถั่วต่างๆ ผู้ที่ตักบาตรควรถวายอาหารจำพวก ถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วสลับกับอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ต่างๆ บ้าง

งา เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ที่ให้ทั้งโปรตีน ไขมัน วิตามิน โดยเฉพาะวิตามินอี และแคลเซียม

 .

อาหารหมู่ที่ 2 ข้าว แป้ง เผือก มัน น้ำตาล

อาหารหมู่นี้ ให้พลังงานแก่ร่างกาย

ข้าว เป็นอาหารหลักของคนไทย เป็นแหล่งอาหารที่ให้พลังงานแล้ว ยังมี คาร์โบไฮเดรท โปรตีน

อาหารหมู่นี้นอกจาก ข้าว ยังมี เผือก มัน และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าว และธัญพืชอื่นๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน บะหมี่ ขนมปัง เป็นต้น

เป็นแหล่งอาหารที่ให้พลังงานเช่นเดียวกัน ส่วนน้ำตาลควรจำกัดการกิน

อาหารหมู่นี้ ถ้าร่างกายได้รับเกินความต้องการ จะถูกเปลี่ยนไขมัน เก็บไว้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เมื่อสะสมมากขึ้น จะทำให้เกิดโรคอ้วน

 .

อาหารหมู่ที่ 3 พืชผักต่างๆ

อาหารหมู่นี้ ให้วิตามินและแร่ธาตุแก่ร่างกาย

พืชผัก เป็นแหล่งสำคัญของวิตามิน และแร่ธาตุ รวมทั้งสารอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย เช่น เส้นใยอาหาร พฤกษเคมี (Phytochemical) รวมทั้งเม็ดสี (Pigments) และสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants)

พืชผัก มีหลายประเภท และกินได้แทบทุกส่วน

ประเภทใบ ยอดและก้าน เช่น กระถิน ผักบุ้ง ตำลึง คะน้า สายบัว บอน ผักกูด ผักแว่น เป็นต้น

ประเภทดอก ดอกกระเจียว ดอกกะหล่ำ ดอกโสน ดอกแค เป็นต้น

ประเภทผล บวบ ฟักทอง ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ มะเขือยาว มะเขือเปราะ กระเจี๊ยบ เป็นต้น

ประเภทราก หัวผักกาด แครอท กระชาย ขมิ้นขาว ของอ่อน เป็นต้น

ตัวอย่าง

  • ผักที่อุดมด้วยแคลเซียม  บำรุงกระดูก เช่น ยอดแค คะน้า ใบยอ ใบชะพลู ใบกะเพรา ผักกระเฉด ตำลึง
  • ผักที่ควรกินเพื่อช่วยลดความดันโลหิตสูง เช่น กระเทียม ขึ้นฉ่าย ใบบัวบก กระเจี๊ยบ
  • ผักที่อุดมด้วยวิตามินเอ เช่น ตำลึง ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ฟักทอง มะเขือเทศ

อ่านต่อที่ http://www.nutrition-talk.com/food-monks-2-3/