รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeเรื่องเล่าสะกิดสุขภาพ Health Story

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นอย่างไร?

มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นมะเร็งชนิดที่คร่าชีวิตชายอายุเกิน 50 ปีมากเป็นลำดับสอง

แต่ถึงกระนั้น คนส่วนใหญ่กลับมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้น้อยมาก

ชายทั่วโลกที่อายุเกิน 50 ปี โดนมะเร็งต่อมลูกหมากเล่นงานประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์

ส่วนที่อายุเกิน 80 ปี มีราว 50 เปอร์เซ็นต์

มะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชายจึงพบมากพอๆ กับมะเร็งเต้านมของผู้หญิง

เพราะในช่วงหนึ่งช่วงใดของชีวิต ผู้หญิงมีโอกาส 1 ใน 9 ที่จะเป็นมะเร็งเต้านม

โอกาสที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย เป็นรองก็เฉพาะ มะเร็งปอดเท่านั้น

ดร.ดีน อีเดลล์ (Dean Edell) แพทย์ชื่อดังชาวอเมริกาพูดถึงธรรมชาติของมะเร็งต่อมลูกหมากที่พบเห็นบ่อยมาก

จนสรุปได้ว่า “ชายใดที่อายุยืนยาวพอสมควร มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 100 เปอร์เซ็นต์

โชคดีที่มันโตช้า ผู้ชายส่วนใหญ่ที่พบว่าเป็นมะเร็งชนิดนี้จึงมักตายด้วยโรคอื่นมากกว่า”

“ไม่มีใครทราบว่ามะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากอะไร จึงไม่มีทางป้องกัน” ดร.เดล โอการ์ (Dale Ogar) บอก

ผลการวิจัยพบว่า “ยิ่งแก่ก็ยิ่งเสี่ยงจะเป็นมากขึ้น อีกปัจจัยคือ คนในครอบครัวที่มีประวัติเคยเป็นมะเร็งประเภทนี้”

และดูเหมือนว่ากลุ่มชนบางเชื้อชาติจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ง่ายกว่าอีกเชื้อชาติหนึ่ง

นอกจากนี้ “ชายที่แต่งงานแล้วมีความเสี่ยงสูงกว่าชายโสด แต่เป็นเพราะเหตุใดไม่ทราบได้”

เกี่ยวกับมะเร็งต่อมลูกหมาก มีประเด็นที่น่างุนงง และประหลาดใจบางประการคือ

โรคนี้มีลักษณะ “แฝง” และไม่ค่อยแสดงอาการ แต่โชคดีที่มันเป็นมะเร็งชนิดที่เพร่กระจายช้าที่สุด

ผู้ชายคนใด ที่แพทย์ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อรอบๆ

เชื่อว่าสามารถจะใช้ชีวิตที่เป็นปกติได้ตลอดไป แต่หากว่ามันลุกลามไปสู่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายแล้ว

โดยเฉลี่ยผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง 2-3 ปี

ต่อมลูกหมาก มีขนาดเท่าเมล็ดอัลมอนด์ อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะเหนือลำไส้ตรง

ทำหน้าที่ขับน้ำอสุจิ ซึ่งมีเชื้ออสุจิออกมาระหว่างหลั่งน้ำกาม

มีความเข้าใจกันว่า มะเร็งชนิดต่างๆ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของยีน ซึ่งอาจเริ่มขึ้นในช่วงแรกๆของชีวิต

แต่โดยทั่วไปการเปลี่ยนแปลงของยีนดังกล่าว ยังไม่ก่อให้เกิดเนื้องอกที่ต่อมลูกหมากจนกว่าผู้ชายจะมีอายุ 40 ปีขึ้นไป

วิธีตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก ยังคงมีประเด็นโต้แยังกันอยู่

หลายปีมาแล้วที่แพทย์แนะนำให้ชายวัย 40 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจประจำปี โดยแพทย์จะใช้นิ้วแหย่เข้าทางรูทวารหนัก

เป็นการตรวจที่เสียค่าใช้จ่ายไม่มาก ไม่เจ็บปวด

และยังมีกระบวนการทันสมัยอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย เช่น ผลการตรวจที่ได้จากห้องแล็บ อุปกรณ์ที่ซับซ้อน

หรือข้อมูลดิบ ที่เรียบเรียงและพิมพ์ออกมาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์

แต่ผู้ชายส่วนใหญ่แหยงกับการที่เเพทย์ใช้นิ้วล้วงเข้าไปในไส้ตรงเพื่อคลำต่อมลูกหมาก จึงมักหลีกเลี่ยงที่จะไปพบแพทย์ ผลที่ตามมาในบางครั้งจึงน่าเศร้าใจ

ในการตรวจไส้ตรง แพทย์จะพยายามคลำหาตุ่มแข็งๆ ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงต่อมลูกหมากที่เป็นโรค

หากพบเเสดงว่าเป็นมะเร็งหรือเนื้องอกที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง เพราะ 50 เปอร์เซ็นต์ของตุ่มแข็งเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (ต่อมลูกหมากโต)

แต่บางครั้งก็ไม่พบมะเร็งจากการใช้นิ้วตรวจ

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพบางคนเห็นว่าวิธีตรวจแบบนี้ ให้ผลไม่แม่นยำ และตรวจไม่พบมะเร็งหลายชนิด

ทางเลือกหนึ่งคือวิธีตรวจเลือดที่เรียกว่า prostate-specific antigen test (PSA)

เป็นการวัดระดับโปรตีนในกระแสเลือดซึ่งหลั่งออกมาโดยเซลล์เยื่อบุผิวของต่อมลูกหมากเท่านั้น

หากระดับความเข้มข้นของเซรุ่มในเลือดสูงก็บ่งชี้ว่าเป็นโรคนี้

การตรวจแบบพีเอสเอสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก คนไข้ก็ไม่รู้สึกรำคาญ

แต่ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่ากรณีที่ระดับความเข้มข้นของเซรุ่มในเลือดสูงอาจไม่ได้เป็นมะเร็ง

แต่อาจเป็นเพียงต่อมลูกหมากโตก็ได้

อีกทางเลือกได้แก่ ทำอัลตร้าซาวนด์ ผ่านช่องทวารหนัก ที่เรียกว่า transrectal ultrasound examination (TRUS)

ดร.ราอูล ซูบูรุ(Raul Suburu) บอกว่าการตรวจแบบทีอาร์ยูเอส สามารถตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร

ในขณะที่ยังรักษาให้หายได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม เขาแนะนำว่าให้นำวิธีการตรวจแบบทีอาร์ยูเอสมาใช้

หลังจากใช้การตรวจแบบพีเอสเอ แล้วพบความผิดปกติเท่านั้น

แล้ววิธีใดดีที่สุด?

ทีมวิจัยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า “เห็นได้ชัดว่า การตรวจแบบพีเอสเอ สามารถวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากได้แม่นยำที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระดับของแอนติเจนสูงมาก แต่หากนําวิธีนี้ไปใช้ร่วมกับสองวิธีแรก ผลที่ได้จะดีกว่า”

ทีมนักวิจัยฮาร์วาร์ด อ้างการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine ฉบับวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1991

ซึ่งรายงานผลการศึกษา ผู้ชาย 1,653 คน

โดย ดร. วิลเลี่ยม คาตาโลนา (William Catalona) กับเพื่อนร่วมทีมอีก 7 คน แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในเมืองเซนต์หลุยส์ สรุปว่า

วิธีตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก ที่ได้ผลที่สุด ได้แก่ การตรวจผสมผสานระหว่างตรวจช่องทวารหนักประจำปี กับการตรวจแบบพีเอสเอ

แล้วตามด้วยการตรวจแบบทีอาร์ยูเอสเพื่อยืนยันความผิดปกติ

แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใด สำหรับชายอายุมากกว่า 40 ปี ไม่มีอะไรดีกว่าการไปพบแพทย์ปีละครั้ง

คำถามที่ได้ยินบ่อยๆ คือ การผ่าตัดทำหมัน จะทำให้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่

ดร.อีเดลล์เชื่อว่าไม่น่าใช่ “แม้ผลการศึกษาสองครั้งหลัง เมื่อไม่นานมานี้ จะพบว่าชายที่ทำหมันเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากกันมาก

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การผ่าตัดทำให้เป็นโรคนี้

จึงมีคำอธิบายอีกว่า ชายที่ผ่านการทำหมันมาแล้ว มักคุ้นเคยกับศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินปัสสาวะ

จึงมีแนวโน้มจะไปตรวจร่างกายบ่อย ด้วยเหตุผลดังกล่าว ย่อมเป็นไปได้ว่าแพทย์จะมีโอกาสตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากได้มากขึ้น”

Cr.มหัศจรรย์แห่งชีวิต