รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeศาสตร์ชะลอวัย Anti-aging

การงีบหลับตอนบ่ายช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

การงีบหลับ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจได้ผลจริงๆ

อย่างน้อย นี่ก็คือ ผลจากการวิจัยการนอนหลับ แม้ว่าทุกวันนี้ ขืนหลับระหว่างงานมีหวังโดนไล่ออก

แต่ในอนาคตการนอนพักกลางวันในที่ทำงาน อาจจะจำเป็น และเป็นที่ยอมรับกัน

นั่นหมายถึงความเป็นไปได้ที่คุณจะเจริญก้าวหน้า สู่ตำแหน่งหน้าที่การงานสูงขึ้นๆ เพราะงีบหลับนี่แหละ

ผลการศึกษาหลายครั้ง แนะนำว่า การอนุญาตให้คนงาน นอนพัก ในเวลากลางวัน

จะช่วยให้เกิดการผลิตและขจัดความผิดพลาดระหว่างการทำงาน

ช่วยให้ทำงานในเวลาอื่นได้ดีขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและความคิดสร้างสรรค์ของคนงาน ในทางทฤษฎี

หากนำการปฏิรูปเศรษฐกิจระดับจุลภาค เช่นว่านี้ ไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง

จะช่วยกระตุ้นประสิทธิภาพในการผลิตทางเศรษฐกิจในระดับชาติได้

หลังการศึกษา งานที่มีความเครียดสูง และต้องใช้เวลาทำงานยาวนาน

หลายองค์กรเริ่มสนับสนุนให้นำนโยบายพักผ่อนด้วยการงีบหลับ เป็นช่วงๆ ระหว่างงาน หรือ work nap มาปฏิบัติ

ผลการศึกษาของนาซ่า (NASA) ในปี ค.ศ. 1990 แนะนําว่า นักบินสหรัฐที่ต้อง บินข้ามประเทศหลายชั่วโมงติดต่อกัน

ควรได้พักผ่อนตามระยะเวลาที่กำหนดให้ในห้องนักบิน เพื่อให้ตื่นตัวมากขึ้นในช่วงเวลาสำคัญ เช่น ระหว่างนำเครื่องขึ้นหรือลง

ปี ค.ศ. 1991 สถาบันวิจัยสังคม-เศรษฐกิจ ในไรน์เบ็คของนิวยอร์ก วิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย ทางเศรษฐกิจ

ของการที่บริษัทใหญ่ๆ ให้ลูกจ้างพนักงานนอนพักระหว่างงาน

และทำนายว่าในศตวรรษที่ 21 บริษัทอีกหลายแห่งจะนำนโยบายการงีบหลับระหว่างงานไปใช้

สถาบันแห่งนี้ เป็นองค์กรที่ปรึกษาที่ทำงานร่วมกับลูกค้า

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทเพื่อคาดการณ์แนวโน้มของเศรษฐกิจ และสังคมที่อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทเหล่านี้

น่าสนใจยิ่งที่ ดร.เจอราลด์ เซเลนท์ (Gerald Celente) ผู้อำนวยการสถาบันฯ ก็ปฏิบัติตัวตามนโยบาย

ไปหลับในที่ทำงานแล้ว เขาบอกว่า “ผมพยายามงีบเกือบทุกวัน”

การศึกษาเรื่องเวลากับผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตได้พิสูจน์ โดยปราศจากข้อสงสัยแล้วว่า

ในแต่ละวันเรามีวงจร “หลับ-ตื่น” เรียกว่า circadian cycle ซึ่งระหว่างแต่ละวงจร 24 ชั่วโมง

เราเกี่ยวข้องกับการนอน 2 ครั้งต่อวัน คือช่วงกลางบ่ายและกลางดึกตลอด circadian cycle

มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของร่างกาย การหลั่งฮอร์โมน และกระบวนการอื่นๆ ของร่างกาย ซึ่งมีผลกระทบต่อระดับความตื่นตัว

วงจรความตื่นตัวนี้ (รู้จักกันในชื่อ “ultradian cycle” ซึ่ง “ultra” หมายถึง “เกินจาก” และ “dian” หมายถึง “เกี่ยวกับช่วงกลางวัน”) เกี่ยวข้องกับความสามารถในการทำงานของเรา

ในแต่ละวันร่างกายเราทำงานแย่ที่สุด 2 ช่วง

จุดต่ำของวงจรความตื่นตัวที่เรียกว่า “สลัมพ์-พีก” (slump- peak) 

คนที่ทำงานระหว่างชั่วโมง การทำงานตามปกติ ผ่านสลัมน์-พีก เพียงครั้งเดียวในแต่ละวัน

แต่สำหรับผู้ที่ทำงานเป็นกะหรือผลัด ซึ่งเริ่มงานตอนบ่ายถึงกลางคืน อาจจะต้องพบกับช่วงสลัมพ์-พีกถึงสองรอบ

ตามทฤษฎีดังกล่าว คนงานกลุ่มนี้ทำงานแย่ที่สุด จึงเป็นกลุ่มที่ควรได้งีบระหว่างงาน

ปัจจุบันนักวิจัยแนะนำว่า เราควรคล้อยตามธรรมชาติของวงจร “หลับ-ตื่น” หรือ “วงจรความตื่นตัว” โดยให้เหตุผลว่า

หากเราทำตามนั้น ไม่เพียงเราจะทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิมเท่านั้น

แต่สุขภาพของคนงานอาจจะดีขึ้น และอายุยืนขึ้นอีกด้วย เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม

เป็นที่ทราบกันดีว่า ศตวรรษที่ 20 เป็นยุคของความเครียด

โรคสำคัญที่ระบาดในสังคมอุตสาหกรรม คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับความเครียด (โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ฯลฯ)

การพักผ่อนนอนหลับเป็นวิธีหนึ่ง ที่ช่วยบรรเทาความเครียดได้

แต่ในศตวรรษที่ 21 เรากลับนอนน้อยกว่ามนุษย์ยุคอื่นใดในประวัติศาสตร์

นักไพรเมตวิทยาบอกเราว่า ไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น กอริลล่า ปกติแล้วพวกมันใช้เวลานอนมากกว่า 12 ชั่วโมงในแต่ละวัน

หลักฐานด้านมานุษยวิทยายื่นยันว่ามนุษย์ ในอดีตเคยนอนมากกว่าที่มนุษย์ในปัจจุบันนอนเสียอีก

คนสมัยนี้จำนวนมาก นอนไม่เพียงพอ หลักฐานจากศตวรรษที่ 18 และ 19 ระบุว่า โดยเฉลี่ยคนงานในสหรัฐอเมริกานอนคนละ 9 ชั่วโมงครึ่ง

แต่ในทศวรรษที่ 1950 “ชั่วโมงการนอนหลับตอนกลางคืน ลดเหลือระหว่าง 7 ชั่วโมงครึ่งถึง 8 ชั่วโมง ถึงวันนี้อย่างมากก็แค่ 7 ชั่วโมง”

ดร.ปีเตอร์ ฮอรี่ (Peter Hauri) กล่าวว่า “สมาธิน่าจะเป็นสิ่งแรกที่ถูกทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในงานซ้ำซากจำเจที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก

เช่น ขับรถนานหลายชั่วโมงบนถนนระหว่างรัฐ หรืองานที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขมากมาย

นักวิทยาศาสตร์ที่โรงพยาบาล เฮนรี่ ฟอร์ด ในเมืองดีทรอยต์ ให้ชาย 24 คน ซึ่งปกตินอนคืนละ 7-8 ชั่วโมง มีโอกาสนอนนานขึ้นอีก 1-2 ชั่วโมง

ผลการทดสอบหลายครั้งหลายหนพบว่า ทุกคนตื่นตัวตอนกลางวันมากขึ้น

เมื่อไม่ให้นอนเพิ่ม ผลก็ออกมาในทางลบอย่างเห็นได้ชัด

เมื่ออดนอนบ่อยขึ้นปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติจะเป็นไปในลักษณะเฉื่อยชา เงื่องหงอย ใจลอย หงุดหงิด สับสน มึนงง หรือหวาดระแวงยิ่งขึ้น

จึงอย่าได้แปลกใจ หากพบว่าตัวเองล้มป่วย ร่างกายต้องการ การพักผ่อนเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันได้ทำงานตามหน้าที่โดยไม่บกพร่อง

คนอดนอนมักมีอาการตามองอะไรไม่ค่อยชัด และมีไข้อ่อนๆ อีกด้วย”

การงีบหลับในระหว่างงาน จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายในที่ทำงานหรือไม่ เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้

นายจ้างจำต้องคิดใคร่ครวญเรื่องนี้ให้ดี แต่เป็นไปได้ว่า พวกเขาอาจต้องการเวลาคิดสักหน่อย

ที่ปรึกษาเกี่ยวกับการนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพของสหรัฐ (US Better sleep Council) ระบุว่า

ชาย(26 เปอร์เซ็นต์) งีบหลับในเวลาทำงานมากกว่าหญิง (13 เปอร์เซ็นต์) 2 เท่า

***

ลีโอนาร์โด ดาวินชี งีบ 15 นาที ทุก 4 ชั่วโมง

Cr. มหัศจรรย์แห่งมนุษย์