โรคคิดไปเองว่าป่วย (Hypochondriasis)
ในปัจจุบัน มีโรคแปลกๆมากมายหลายโรค ที่บางคนยังไม่รู้จัก หรือยังไม่เคยได้ยินมาก่อน รวมถึง โรคคิดไปเองว่าป่วย หรือ ไฮโปคอนดิเอซีด (Hypochondriasis)
โรคคิดไปเองว่าป่วย หรือ ไฮโปคอนดิเอซีด (Hypochondriasis) เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความกังวลและหมกมุ่น ในปัญหาเรื่องของสุขภาพตนเองมากเกินไป
คิดกลัวอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองจะป่วยเป็นโรคร้ายแรง ทั้งๆที่อาการเจ็บป่วยที่เป็นไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด จึงต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง แม้ผลที่ตรวจมาจะไม่เจอโรคใดๆหรือความผิดปกติใด ก็ไม่ยอมเชื่อง่ายๆ นับเป็นโรคจิตเวชชนิดหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม อาการป่วยที่คนไข้เป็นอาจไม่มีอยู่จริง หรือหากเจ็บป่วยจริงก็มักจะเป็นความผิดปกติเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะความผิดปกติที่ศีรษะ คอ ท้อง และหน้าอกทำงานผิดปกติไปจากเดิม เช่น มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม มึนงง ปวดศีรษะ ท้องอืด ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น
แต่ผู้ป่วยจะจับอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ของร่างกายมาคิดเป็นเรื่องใหญ่โต และไปหาแพทย์เพื่อขอรับการรักษา
อาการทั้งหมดนี้ผู้ป่วยไม่ได้แกล้งทำเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนใกล้ชิดแต่อย่างใด เขารู้สึกว่าตัวเองปวดจริงๆ แต่ว่าสาเหตุที่ทำให้ปวดไม่มีจริง เหมือนคนไข้บอกหมอว่า ได้ยินเสียงแว่วๆ หมอก็บอกว่า หมอเชื่อว่าคุณได้ยินจริงๆ แต่เสียงนั้นไม่มีอยู่จริง ซึ่งเป็นความผิดปกติทางจิตเวชอย่างหนึ่ง
“ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักไปพบหมอหลายโรงพยาบาล ตรวจหลายอย่าง ถึงแม้จะได้รับการยืนยันจากหมอว่า ไม่พบโรคหรือความผิดปกติใด ๆ แต่ผู้ป่วยจะยังเชื่อว่า ตนป่วยเป็นโรคที่หมอยังตรวจไม่พบอยู่อีก”
โดยปกติแล้วโรคนี้มักเกิดขึ้นกับกลุ่มคนอายุระหว่าง 20-30 ปี พบทั้งในเพศชายและเพศหญิง
สังเกตโรคสังเกตอาการ
หากสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างแล้ว พบว่ามีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ให้พึงสงสัยไว้เลยว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคคิดไปเองว่าป่วย หรือ ไฮโปคอนดิเอซีด ค่อนข้างสูง
1. มีความคิด หมกมุ่นกังวลอยู่กับความกลัวว่าตนเองจะป่วยเป็นโรคร้ายแรงอยู่ตลอดเวลา
2. แม้จะได้รับการตรวจอย่างละเอียด และได้รับการยืนยันจากหมอแล้วว่าไม่มีความผิดปกติใดๆก็ตาม
3. ความรู้สึกนี้ ทำให้คนไข้เกิดความรู้สึกกลัวไปต่างๆ นานา จนเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน คนรอบข้างเริ่มเอือมระอา มีปัญหาเกี่ยวกับการเข้าสังคม
4. เป็นมานานติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน และมีระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ยิ่งกังวลยิ่งเป็นโรคคิดไปเองว่าป่วย
1. เกิดจากร่างกายแปลความรู้สึกผิดปกติ เมื่อมีความผิดปกติของการทำงานในร่างกายเกิดขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักแปลความหมายของความผิดปกตินั้นร้ายแรงมากกว่าคนทั่วไป รวมไปถึงมีความอดทนต่อความรู้สึกไม่ปกติของร่างกายต่ำกว่าคนปกติ
2. เกิดจากการใช้บทบาทของผู้ป่วย (Sick role) เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาหรือสถานการณ์ที่แก้ไขไม่ได้ ผู้ป่วยจะเรียนรู้ที่จะใช้บทบาทผู้ป่วยเพื่อเอาตัวรอดจากเหตุการณ์นั้นๆ
3. เกิดจากโรคแทรกซ้อนทางจิตวิทยาอื่นๆ เช่น เครียด โรคซึมเศร้า โรคกังวลไปทั่ว แต่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว จึงแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองออกมาไม่ถูก และคิดว่าตัวเองป่วย
4. เกิดจากความกดดันบางอย่าง จนรู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับ และขาดความภูมิใจในตนเอง มีความผิดหวัง จึงใช้กลไกทางจิต ชนิดที่เรียกว่าเก็บกด แสดงออกมาเป็นอาการผิดปกติทางกาย เพื่อปกปิดสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ
ตรวจสุขภาพกาย+ ใจ เป็นโรคคิดไปเองหรือไม่
อย่างไรก็ตาม คนไข้ที่มาพบหมอด้วยอาการต่างๆข้างต้น อาจไม่ได้ป่วยเป็นโรคไฮโปคอนดิเอซีดเสมอไป ซึ่งก่อนที่จะสรุปว่าใครเป็นโรคนี้หรือไม่ ต้องมีการศึกษาวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุก่อน โดยแนวทางการวินิจฉัยมีสองขั้นตอน คือ
วินิจฉัยโรคทางกาย ตรวจได้จากการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคเอดส์ โรคเอสแอลอี โรคผิดปกติทางต่อมไร้ท่อ เป็นต้น
“ปกติคนไข้พวกนี้จะยินดีให้ความร่วมมือ เพราะเขาเองชอบมาโรงพยาบาลอยู่แล้ว จนเมื่อตรวจอย่างละเอียดแล้วไม่พบว่าป่วยเป็นโรคอะไร ก็จะนำผู้ป่วยเข้าสู่การตรวจวินิจฉัยทางจิตเวชเป็นลำดับต่อไป”
วินิจฉัยโรคทางจิตเวชอื่นๆ คนไข้ที่มาหาหมอ บางคนอาจไม่ได้เป็นโรคไฮโปคอนดิเอซีด แต่อาจเป็นโรคอื่นๆได้ เช่น เครียด โรคซึมเศร้า วิตกกังวล รวมถึงโรคจิตเภทชนิดอื่น ๆ
ซึ่งรักษาได้โดยการให้ยา แต่เมื่อตรวจจนแน่ใจว่า คนไข้ไม่ได้ป่วยด้วยโรคจิตเวชชนิดอื่นๆ จึงวินิจฉัยว่า คนไข้ป่วยเป็นโรคไฮโปคอนดิเอซีด ซึ่งโรคนี้ไม่สามารถรักษาหายได้
เหตุผลที่โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายได้ เพราะคนไข้ไม่ยอมรับว่าตนเองป่วยเป็นโรคไฮคอนดิเอซีด แต่คิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคทางกายอื่นๆ จึงไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับหมอในการรักษา
นอกจากนี้คนที่เป็นโรคไฮคอนดิเอซีด มักตอบสนองต่อการใช้ยาไม่ค่อยดี เนื่องจากเขาไม่ยอมรับว่าป่วยเป็นโรคนี้ คนไข้บางรายที่ป่วยเป็นโรคนี้ อาจจะมีความรู้มาก เพราะศึกษามาเยอะ ก็ทำให้ต่อต้านการรักษาของหมอ
การดูแลผู้ป่วย โรคคิดไปเอง
แนวทางการรักษาของแพทย์ ที่ใช้รักษาโรคไฮโปคอนดิเอซีดคือ การรักษาแบบจิตบำบัด โดยมีเป้าหมาย คือ ลดความเครียดของผู้ป่วยเป็นหลัก เพื่อให้เขาสามารถปรับตัว และดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพ และเหมาะสม ไม่หมกมุ่นอยู่กับความคิดของตนเองมากเกินไป
ซึ่งคนไข้โรคนี้ ไม่จำเป็นต้องมาพบจิตแพทย์ก็ได้ ขอเพียงแค่มีหมอสักคน คือหมอเวชปฏิบัติทั่วไปก็ได้ มาคอยรับฟังเวลาเขาพูดถึงเรื่องความเจ็บป่วยของตนเอง อย่างน้อยเดือนละครั้ง
และคอยห้ามปรามเวลาที่เขาจะขอตรวจพิเศษต่างๆ ที่ไม่จำเป็น แสดงให้เขาเห็นว่ามีคนที่ใส่ใจอาการป่วยของเขา อาการของคนไข้ก็จะทรงตัวไม่เป็นโรคอื่นๆ เพิ่มขึ้น
ส่วนญาติๆ ของผู้ป่วยนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องพยายามปรับหรือเปลี่ยนทัศนคติ จากความรู้สึกรำคาญ มาเป็นสงสารแทน และต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่า เขาป่วย เขาต้องการเรา
โรคคิดไปเอง ป่วยแล้วควรดูแลตัวเองอย่างไร
– ออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าและสดชื่น
– ปลูกต้นไม้ เพราะการได้มองเห็นสีเขียวของต้นไม้จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และอารมณ์ดีขึ้น
– อ่านหนังสือ เช่น หนังสือธรรมะ หนังสือตลก นิยายที่เนื้อหาไม่หนักเกินไปนัก ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ได้ความเพลิดเพลินแล้วยังได้ความรู้เพิ่มเติมอีกด้วย
– หาโอกาสไปเที่ยว เพราะการได้ไปเปลี่ยนบรรยากาศในสถานที่ใหม่ ๆ สามารถลดความวิตกกังวลจากเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ เช่น ไปทะเล ภูเขา น้ำตก เป็นต้น
– ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับครอบครัว การพูดคุยปรึกษาหารือ ทานอาหารร่วมกัน ก็สามารถช่วยให้ทุเลาความเครียด วิตกกังวล และโรคซึมเศร้าที่เป็นอยู่ได้
“โรคจิตเภทส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้โดยการทำความเข้าใจกับตนเอง คือ เราต้องมีความหยั่งรู้ในอารมณ์ของตัวเอง เช่น รู้ว่าเวลานี้ตัวเองวิตกกังวลไม่สบายใจ ก็บอกว่าตัวเองวิตกกังวล ไม่โกหกตัวเอง ยิ่งถ้าเรามีความหยั่งรู้ในตัวเอง เราก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเวชน้อยลง”