รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeสารอาหารบำบัดโรค Nutrition

น้ำมันปลา (Fish Oils)

จากหลักฐานทางระบาดวิทยาพบว่า ชาวเอสกิโม ซึ่งบริโภคปลาเป็นอาหารหลัก มีอุบัติการของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease, IHD) เบาหวาน หืด และโรคสะเก็ตเงิน (เรื้อนกวาง psoriasis) น้อยกว่าชาวยุโรป จึงได้มีการศึกษาและทดลองต่อๆมา

 แหล่ง

น้ำมันปลาส่วนมากจะเตรียมจากปลาทูน่า (ปลาโอ) ซึ่งเป็นปลาในวงศ์ Thunnidae มีหลายชนิด เช่น ปลาโอขาว (Frigate Mackerel) ปลาโอครีบเหลือง (Yellowfin Tuna)

สำหรับ ω-3-PUFA ซึ่งเป็นสารสำคัญในน้ำมันปลา (EPA + DHA 25-30%) พบมากในน้ำมันถั่วเหลือง flaxseed, soy lecithin, น้ำมัน wheat germ, ผลและน้ำมัน walnut, สาหร่ายทะเลบางชนิด ฯลฯด้วย

ปลาและสัตว์น้ำที่กินแพลงก์ตอนและสาหร่ายเป็นอาหารหลัก จะสะสมสารนี้ไว้ พบในสัตว์น้ำเค็มมากกว่าสัตว์น้ำจืด

ปลาในไทยเท่าที่พบ เช่น ปลาทู 2-3 ก.% ปลาอีกา ปลากระพงตาเดียว 0.5-2 ก% (เนื้อปลา) ปลาสำสี ปลารัง ปลากระพง ปลาที่พบในธรรมชาติมีปริมาณ ω 3:ω 6 ในสัดส่วนที่พอเหมาะ ส่วนปลาที่เลี้ยงในบ่อมี ω6>ω3

การเตรียม

ปลาสดจากแหล่งปลอดสารพิษเช่น กลางมหาสมุทร จะถูกจับมานึ่งให้สุก นำเนื้อมาเข้าเครื่องบีบอัดกรองแยกของเหลวด้วยความเย็น (cold pressed) และแยกน้ำมันปลาออกไปทำให้บริสุทธิ์ บรรจุ soft capsule

ถ้าใช้หัวปลาจะได้น้ำมันที่คุณภาพไม่ดี มีคอเลสเตอรอลปนมาบ้าง

การเตรียมโดยผ่านความร้อน เช่น น้ำมันปลาที่เหลือจากการทำปลากระป๋อง อาจมีอนุมูลอิสระปนเปื้อน

หากไม่มีการป้องกันและกำจัดที่ดี จะเป็นปัญหาต่อสุขภาพ และควรมีสารป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ เช่น ไวตามิน E ร่วมด้วย ปริมาณ ω-3 ควรมากกว่า 20% และมีสัดส่วน EPA:DHA ที่เหมาะสม เช่น 3:2

องค์ประกอบสำคัญ

น้ำมันปลามี UFA ที่สำคัญคือ กรด linoleic และ กรดไขมันพวก ω-3-PUFA ซึ่งส่วนใหญ่เป็น EPA และ DHA

ฤทธิ์ทางชีวภาพ

น้ำมันปลา (FO) มีผลต่อร่างกายหลายด้าน เช่น

ก.ลดไขมัน FO-ลด lipoprotein, plasma TG LTB 4 , FA-เพิ่ม HDL ω-3 FA -ลดLDL, triglyceride type II a, EPA- ลดTG โดยลดการสร้างVLDL

ข.ต้านการอักเสบ FO -ยับยั้ง 5-lipoxygense, LTB4 ω-3 FA-กดการสร้าง interleukin I

ค. ต้านมะเร็ง ω-3 FA -กดการสร้าง tumor necessary factor

ง. ลดความดันโลหิต ω-3 FA – เพิ่ม PGI2, PGI3 ช่วยขยายหลอดเลือด

จ.ทำให้เลือดแข็งตัวช้า FO- ลด fibrinogen, plasmin inhibitor, เพิ่ม plasmin activator ω-3 FA – เพิ่ม PG, TXA3, TXA4

ฉ.ต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด ลดฤทธิ์ของ platelet, leucocyte ลดความข้นของเลือด (ลดการเกิดลิ่มเลือด)

ประโยชน์

น้ำมันปลา นิยมใช้ช่วยบำรุงประสาทและสมอง เพิ่มภูมิคุ้มกัน ทำให้โรคหอบหืด โรคผิวหนังที่เกิดจากการแพ้ ผิวหนังแห้ง อักเสบ (atopic dermatitis) หรือโรค autoimmune ต่างๆ เช่น SLE มีอาการดีขึ้น ทั้งยังใช้ช่วยบรรเทาอาการในกรณีต่างๆ เช่น

-โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ป้องกันและต่อต้านการแข็งตัวของหลอดเลือด (artherogenesis) กัน IHD ไขมันในเลือดสูง (อาการจะดีขึ้นถ้าใช้ร่วมกับไวตามิน E) ความดันโลหิตสูง

– โรคปวดข้อรูมาตอยด์ โดยลดการอักเสบ ลดปริมาณ NSAID ที่ต้องใช้

– โรคสะเก็ดเงิน ลดความรุนแรงของอาการทางผิวหนัง บรรเทาอาการ atopic dermatitis

– โรค Raynaud,s ช่วยให้ความเย็นของมือและเท้า (cold tolerance) ดีขึ้น

– บำรุงสมอง DHA ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาท (ส่วน dendrite) ซึ่งถ่ายทอดข้อมูลและส่งสัญญาณระหว่างเซลล์สมองด้วยกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้และความจำ

ข้อควรระวัง

การใช้ในขนาดสูง เพื่อให้ได้ EPA 5-10 กรัม ต่อวัน อาจเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน อาหารไม่ย่อย เรอมีกลิ่นคาวปลา อุจจาระร่วง เลือดออกไม่หยุด

พบว่าชาวเอสกิโมที่บริโภคปลามากกว่าปกติ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในสมอง (hemorrhagic stroke) และเกิดพิษจากไวตามิน A และไวตามิน D เกินขนาดได้ รวมทั้งภาวะการขาดไวตามิน E

นอกจากนี้ยังพบการแพ้ ในผู้ที่แพ้อาหารทะเลและยาบางอย่าง (เช่น แอสไพริน) ทำให้เกิด anaphylactic shock ได้และการให้ผู้ทดลองบริโภคปลาทะเล 8 ครั้ง/สัปดาห์ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลง

ดังนั้น จึงควรระวังในสตรีมีครรภ์ (ทารกอาจพิการจากพิษของไวตามิน A และเลือดไหลไม่หยุดขณะคลอด) ผู้ที่มีภาวะเลือดแข็งตัวช้ากว่าปกติ หรือกินยาต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่มีประวัติการแพ้ และการใช้ร่วมกับยาหรือไวตามินที่ละลายในไขมัน

การใช้เพื่อรักษาโรค ต้องใช้ติดต่อกันนาน ทำให้สมดุลของ ω-3-PUFA และ ω-6-PUFA เสียได้ ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ และการใช้ร่วมกับยาอื่น ต้องระวังการเกิดปฎิกิริยาสัมพันธ์กับยาและไวตามินที่ละลายในไขมัน

รูปแบบ และขนาดที่ใช้

ส่วนใหญ่จะบรรจุ soft capsule ขนาด 500 มก.และเสริมด้วยไวตามิน E การใช้เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาการ นิยมใช้ 500-1,500 มก./วัน การใช้เพื่อรักษาโรค จะใช้ในขนาด 3-6 ก. แต่ต้องระวังผลข้างเคียง และควรอยู่ในความดูแลของแพทย์

การใช้น้ำมันปลา ควรเลือกชนิดที่มีปริมาณ EPA และ DHA สูง แต่มีคอเลสเตอรอลต่ำ และควรมีไวตามิน E เสริม เพื่อป้องกันการขาดไวตามิน E และช่วยเป็น antioxidant ด้วย