รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeเรื่องเล่าสะกิดสุขภาพ Health Story

อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่คืออะไร? เหตุใดจึงมักเกิดกับผู้สูงอายุ?

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือไม่สามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ เป็นอีกปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอายุ และไม่ค่อยมีใครอยากเปิดปากพูด

ราวกับเป็นประเด็นต้องห้าม(คุย) ในออสเตรเลีย ผู้มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่ยังคงปิดปากเงียบไม่ยอมพูดคุยเรื่องนี้มีประมาณ 800,000 คน

เชอริล การ์ตลีย์ (Cheryle Gartley) แห่งมูลนิธิไซมอน องค์กรให้ความช่วยเหลือ ผู้เป็นโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่กล่าวว่า

“เราคุยเรื่องข่มขืน เรื่องรักร่วมเพศ แต่ไม่ยอมพูดเรื่องไม่สามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ได้ เพราะมองกันว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวสุดๆ”

โดยทั่วไปการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เกิดจากความชราภาพของเนื้อเยื่อ อวัยวะสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ

ในผู้หญิง กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะเกิดอ่อนแอ ท่อปัสสาวะยืดหยุ่นน้อยลง เยี่อบุท่อปัสสาวะเรียบขึ้น

และกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะซึ่งทำหน้าที่ขับปัสสาวะอ่อนแอลงเรื่อยๆ

อาการนี้ อาจมีสาเหตุมาจากความเสียหายของ อุ้งเชิงกราน

ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการตั้งครรภ์หรือความเสื่อมของอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก และเยื่อบุท่อปัสสาวะของสตรีวัยหมดประจำเดือน

ในผู้ชาย ต่อมลูกหมากโตทำให้ท่อปัสสาวะตีบตัน และอ่อนแอลง ถ่ายกะปริบกะปรอย ภาวะการตีบตันดังกล่าวส่งผลให้ผนังกระเพาะปัสสาวะขยาย ส่งผลให้เกิดการสร้างฮอร์โมน vaso-interactive peptide (VIP) มากเกินไป ฮอร์โมนวีไอพีไปกระตุ้นให้ผนังกระเพาะปัสสาวะบีบตัวอย่างง่ายดายกว่าปกติมาก และเมื่อรวมกับแรงดึงดูดโลก ปัสสาวะจึงไหลออกมาโดยที่ควบคุมไม่ได้

นอกจากปัจจัยด้านอายุที่ทำให้มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แล้ว ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นแม้จะน้อยมาก เช่น สมอง ลำไขสันหลัง กระเพาะปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะได้รับความเสียหาย หรือเกิดจากโรคที่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะดังกล่าว สารหลายอย่าง เช่น ยากล่อมประสาท ยาคลายเครียด ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ แอลกอฮอล์ หรือกาเฟอีน ก็อาจก่อเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือทำให้อาการเลวร้ายลงได้

ผู้ใหญ่ที่เป็นหญิงราว 35 เปอร์เซ็นต์ มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในช่วงหนึ่งของชีวิต แม้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าชาย 8 เท่า แต่หลังจากอายุ 70 ปี ทั้งสองเพศมีโอกาสเป็นเท่าๆ กัน ผู้สูงอายุเป็นกันมากและมีอาการรุนแรงอีกด้วย ผู้มีอายุระหว่าง 60-75 ปีเป็นกัน 10 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้มีอายุ 75 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานเชื่อได้ว่ามีคนไข้อีกมากที่ไม่แจ้งอาการให้แพทย์ทราบ คนไข้มากกว่า 2 ใน 3 ไม่ยอมบอกแพทย์และเก็บเงียบไว้กับตัว บ้างเพราะอาย บ้างเพราะขาดความรู้เรื่องการบำบัดรักษาและบ้างก็ “ไม่อยากรบกวนหมอ” ในสหรัฐอเมริกา มีการศึกษาพบว่า ผู้ใหญ่เพียง 1 ใน 12 รายเท่านั้นที่ขอรับความช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาที่พบเห็นทั่วไปและมีวิธีการบำบัดที่ได้ผล แต่ดูเหมือนว่าคนไข้กลัวที่จะเปิดเผยสภาพอาการของตัวเอง

ลินดา ออสติน (Lynda Austin) ซึ่งเป็นผู้ให้ความรู้ทางด้านพยาบาลกล่าวว่า “ผู้สูงวัยระมัดระวังเรื่องการเปิดเผยอาการของตัวเองมากเป็นพิเศษ เพราะเมื่อคนในครอบครัวทราบปัญหาก็จะส่งพวกเขาไปอยู่ที่บ้านพักคนชราหรือโรงพยาบาลเพื่อรักษา แต่เจ้าตัวเลือกที่จะขอเเก้ปัญหาเองด้วยวิธีพื้นๆ เช่น เอาผ้าอนามัย เศษผ้า หรือกระดาษทิชซูใส่รองกางเกงใน หรือสามถุงครอบอวัยวะเพศ คนพวกนี้ทำราวกับว่าการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เป็นเรื่องน่าอดสู”

ผู้เชี่ยวชาญบางคนยอมรับว่า สําหรับคนไข้บางราย อาการนี้ส่งผลกระทบทางจิตใจรุนแรงมาก ดร.โรนัลด์ โรเซนสกี้ (Ronald Rozensky) จิตแพทย์ปรึกษากล่าวว่า ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่สามารถทำลายความรู้สึกภูมิใจในความสามารถของตัวเอง ความเป็นตัวของตัวเอง และคุณค่าของตัวเอง ทั้งกัดกร่อนความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ เขาเพิ่มเติมว่า “ความสามารถในการควบคุมตัวเอง ตั้งแต่วัยเด็กเกี่ยวข้องกับการฝึกเข้าส้วมมากที่เดียว ดังนั้น เมื่อต้องสูญเสียการควบคุมในวัยผู้ใหญ่ จึงดำดิ่งสู่ความสิ้นหวัง อับอาย รู้สึกผิด และแยกตัว”

สำหรับคนสูงอายุในออสเตรเลีย ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่กลายเป็นปัญหาใหญ่ หากพิเคราะห์จากจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อ ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นทุกวัน ผู้มีอาการนี้อาจต้องใช้เงินถึง 30 เหรียญต่อสัปดาห์สำหรับค่าแผ่นซับปัสสาวะใส่กางเกงใน ยาดับกลิ่น ค่าซักแห้ง อุตสาหกรรมสินค้าที่เกี่ยวข้องจึงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

ในสหรัฐอเมริกา ครั้งหนึ่งผลิตภัณฑ์ “Attend” ของบริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ขายให้องค์กร สถาบัน หรือโรงพยาบาลเท่านั้น แต่นับจากปี ค.ศ. 1986 เป็นต้นมา ชาวบ้านก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป ตัวเลขจากสหรัฐอเมริกาฟ้องว่าผ้าอ้อมประเภทใช้แล้วทิ้งของผู้ใหญ่ขายดีกว่าของเด็กเสียอีก

เมื่ออาการรุนแรงจนไม่สามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ก็ต้องเข้าโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ของคนไข้ที่สถานพยาบาลในรัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลียรับตัวไว้รักษาในแต่ละปีมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ของคนไข้ที่ไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ดร.นีล เรสนิก (Neil Resnick) กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกา สถานพยาบาลต่างๆ ใช้เงินถึง 8,000 ล้านเหรียญรับมือกับปัญหากระเพาะปัสสาวะของผู้สูงอายุ “มากกว่าที่ใช้จ่ายกับประชากรทั่วไปที่ไปฟอกไตและผ่าตัดทำบายพาสรวมกันเสียอีก”

หลายท่านคงเคยได้ยินได้ฟังความเชื่อเกี่ยวกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่มามาก เช่น ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการฝึกใช้ห้องน้ำช้าเกินไปในวัยเด็ก และภาวะนี้พัฒนาขึ้นมาเองในภายหลัง หรือการดื่มน้ำแต่น้อยก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้จริงๆ แล้วยิ่งทำให้อาการแย่ลง ประสิทธิภาพการทำงานของกระเพาะปัสสาวะลดลง และยิ่งรู้สึกอยากถ่ายมากขึ้น ผู้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ควรหลีกเลี่ยงความพยายามที่จะกลั้นปัสสาวะให้นานขึ้น หรือเข้าห้องน้ำให้บ่อยขึ้นเพื่อเป็นการ “เผื่อเอาไว้” หรือไม่ร่วมกิจกรรมทางสังคมกับคนทั่วไป เนื่องด้วยเกรงว่ามันจะพรวดออกมาเลอะเทอะในที่สาธารณะ เพราะกล้ามเนื้อรวมทั้งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานจะมีปัญหาจากการขาดการใช้งาน ดังนั้น ผู้มีอาการนี้ควรดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว ออกกำลังสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้อ้วน อย่าให้ท้องผูก หลีกเลี่ยงทั้งกาเฟอีนและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ไม่จำเป็นต้องทนทุกข์ทรมานด้วยการปิดปากเงียบ การรักษาให้ได้ผลมีหลายวิธี แพทย์มักแนะนำให้บริหารกล้ามเนื้อพยุงรองรับกระเพาะปัสสาวะหลังเริ่มปรากฏอาการ แม้ว่าแพทย์อื่นๆ จะมีความเห็นว่าการบริหารร่างกายให้หน้าท้องช่วงล่างแข็งแรงขึ้นมีจุดมุ่งหมายเชิงปัองกันมากกว่ารักษาก็ตาม แต่นี่ก็เป็นการฝึกบริหารกระเพาะปัสสาวะไปด้วย เป้าหมายทั้งหมดนี้ก็เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกระเพาะปัสสาวะให้กลับสู่ภาวะปกติก่อนจะรู้สึกอยากถ่าย

ในรายที่เป็นรุนแรงอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด ปัจจุบันแพทย์ จะเลือกใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อกล้ามเนื้อหูรูดของท่อปัสสาวะไร้สมรรถนะ หรือท่อปัสสาวะอุดตัน หรือหลังจากรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล การนำกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะปัสสาวะเทียมมาปลูกถ่ายให้คนไข้ทำกันมานาน 20 ปีหรือนานกว่านั้น วิธีนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถบรรเทาปัญหาได้แม้ในรายที่เป็นหนัก

Cr. มหัศจรรย์แห่งร่างกาย