รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeศาสตร์ชะลอวัย Anti-aging

น้ำมันจากงาคั่ว: สุดยอดน้ำมันปรุงอาหาร

น้ำมันจากงาคั่ว ซึ่งมีสีเข้ม และกลิ่นหอมของญี่ปุ่น เกาหลี และจีน เป็นรสชาติน่าทึ่งที่สุดอย่างหนึ่งของเอเซีย

เมล็ดงา ก็เช่นเดียวกับเมล็ดกาแฟ เมื่อนำไปคั่วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี ที่ทำให้รสและกลิ่นผิดแผกจากเดิมอย่างยิ่ง

น้ำมันกลิ่นหอม อร่อย และมีประโยชน์ชนิดนี้ ช่วยเสริมแต่งรสชาติของข้าว พาสต้า หรือผักต่างๆ และสร้างความโดดเด่นที่น่าพอใจให้กับซอส และน้ำสลัด

งาเป็นเมล็ดพืชน้ำมันที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ ที่จริงแล้ว งา อาจเป็นเมล็ดพืชเก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์เก็บเกี่ยวมาใช้

นั่นคือ เมื่อ 5,000-7,000 ปีก่อนหน้านี้ ในทวีปแอฟริกา บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร นักประวัติศาสตร์อาหาร เชื่อว่า เดิมทีมีการใช้น้ำมันสีทอง ที่สกัดจากเมล็ดงาเพื่อเป็นเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น ก่อนจะค้นพบคุณสมบัติด้านการปรุงอาหาร

ช่วง 6 ศตวรรษก่อนคริสต์ศักราช ชาวเปอร์เซียที่มั่งคั่ง ใช้น้ำมันงาเพื่อปรุงอาหาร ทำน้ำมันนวดตัวและยา

เป็นเวลาหลายศตวรรษที่น้ำมันงาได้รับความนิยม อย่างสูงที่อินเดีย ในการนวดเพื่อบำบัด ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งของการแพทย์แผนโบราณ แบบอายุรเวท

แม้ว่าปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่แล้ว น้ำมันจากงาคั่ว จะผลิตในโรงงานขนาดใหญ่ ด้วยเครื่องมือทันสมัย แต่ยังมีบางร้านในญี่ปุ่น ที่ใช้วิธีการแบบดั้งเดิม ที่ย้อนหลังไปได้ถึงทศวรรษ 1800

สุขภาพและสุขภาวะ

น้ำมันงาอุดมด้วยวิตามินเอ บี และอี รวมทั้งเกลือแร่ต่างๆ เช่น เหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียม ทองแดง ฟอสฟอรัส และกรดซิลิซิกซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญ

ยิ่งกว่านั้นการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าน้ำมันงาช่วยเรื่องการดูดซึมและการย่อยวิตามินบางชนิดด้วย

น้ำมันงามีกรดไลโนเลอิกสูง กรดไลโนเลอิกเป็นหนึ่งในกรดไขมันจำเป็น(อีเอฟเอ) สองชนิด ที่ร่างกายไม่สามารถผลิตเองได้

อีเอฟเอจำเป็นต่อการเติบโตโดยทั่วไปและช่วยบำรุงเลือด เส้นเลือด และเส้นประสาท

อีเอฟเอช่วยให้ผิวและเนื้อเยื่ออื่นๆ คงความเยาว์วัยและแข็งแรง โดยป้องกันไม่ให้เกิดอาการแห้ง และตกสะเก็ด

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระยะหลัง แสดงให้เห็นว่า อีเอฟเอมีบทบาทสำคัญในการควบคุมความดันเลือด การเผาผลาญคอเลสเตอรอล และการไหลเวียนของสารชีวเคมีในเยื่อหุ้มเซลล์

โดยรวมแล้ว อีเอฟเอเกี่ยวข้องกับการผลิตพลังงานชีวิตในร่างกาย จากสารอาหารและพาพลังงานเหล่านั้น ไปตามระบบต่างๆ

การคิดค้นกระบวนการแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะการทำให้น้ำมันบริสุทธิ์และการสีข้าว ทำให้เริ่มพบผู้ที่มีอาการขาดอีเอฟเอและอีเอฟเอไม่สมดุล

การขาดกรดไลโนเลอิกทำให้ผมร่วง ผิวแตก อารมณ์ไม่นิ่ง มีอาการคล้ายโรคข้ออักเสบ ติดเชื้อง่าย แผลหายช้า และหากอาการรุนแรง ก็จะเกิดโรคหัวใจ ตับ และไต

น้ำมันงายังมีกรดโอเลอิกสูง อีกด้วย กรดชนิดนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของน้ำมันมะกอก เชื่อกันว่าน้ำมันไม่ผ่านการกลั่นที่มีกรดโอเลอิกสูง เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของระบบหลอดเลือดหัวใจ

งานวิจัยด้านการแพทย์ยุคใหม่ แสดงให้เห็นว่าการบริโภคน้ำมันงา ช่วยลดคอเลสเตอรอล และเป็นประโยชน์ต่อหัวใจ และไต

นักวิจัยประจำคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) รายงานว่า การทดลองในห้องทดลองแสดงให้เห็นว่าการกินอาหารที่มีน้ำมันงาสูง ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของสัตว์ได้อย่างชัดเจน

การวิจัยในญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่า อาหารที่อุดมด้วยเซซามิน ซึ่งเป็นสารไฟโตเอสโตรเจน ตามธรรมชาติที่พบในน้ำมันงา ช่วยลดความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง ที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดของไต รวมทั้งโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดห้วใจ

ในอินเดีย การวิจัยแสดงให้เห็นว่าการบริโภคน้ำมันงาควบคู่กับยา ช่วยลดความดันโลหิตได้อย่างดี

น้ำมันงาที่ไม่ผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ มีสารต้านอนุมูลอิสระ ชื่อเซซามอล ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้น้ำมันงาเหม็นหืน

สารต้านอนุมูลอิสระจะเข้าจับตัวกับอนุมูลอิสระ ซึ่งรู้กันว่าเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ที่เกิดจากการเสื่อมสภาพการศึกษา

ครั้งหนึ่งของมหาวิทยาลัยเภสัชศาสตร์และชีววิทยาศาสตร์ในโตเกียว แสดงให้เห็นว่าเซซามอล ช่วยยับยั้งความเสียหายของดีเอ็นเอที่เกิดจากอนุมูลอิสระต่างๆ

อุตสาหกรรม เนื้อสัตว์ใช้เซซามอล เพื่อรักษาสีสันและรสชาติของเนื้อสัตว์แช่เย็น

ผลการศึกษาของโรงเรียนการแพทย์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แสดงให้เห็นว่า หนูที่ลำไส้เป็นแผล จะฟื้นตัวได้เร็วกว่า หากกินอาหารที่อุดมด้วยน้ำมันงา

ยิ่งไปกว่านั้น หนูกลุ่มที่บริโภคน้ำมันงา จะมีระดับอินเตอร์ลูคินในเลือดสูงกว่ามาก ทั้งนี้ อินเตอร์ลูคน คือองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของเลือด ที่ช่วยในการต่อสู้เชื้อโรค

ประสิทธิผลของน้ำมันงาและเซซามอล ในฐานะสารป้องกันมะเร็ง อาจมีมากกว่าหน้าที่ในการต้านอนุมูลอิสระด้วยซ้ำ

นักวิจัยที่โรงเรียนเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อธิบายว่า คุณประโยชน์”อันทรงอำนาจ” ที่สารชนิดนี้ออกฤทธิ์ต่อโรคมะเร็งผิวหนังในหนู เป็นสิ่งที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยผลกระทบ เรื่องการดูดซับอนุมูลอิสระเพียงอย่างเดียว และแนะนำให้มีการทำวิจัยเพิ่มเติม

เมื่อใช้ทาผิว น้ำมันงา มีคุณสมบัติที่น่าทึ่ง ผู้ที่ใช้เป็นประจำทุกวัน จะพบว่าการติดเชื้อลดน้อยลง และปวดข้อต่อน้อยลง น้ำมันงายังช่วยรักษาความชุ่มชื่นให้กับผิว ทำให้ผิวอ่อนนุ่ม ยืดหยุ่น และดูอ่อนเยาว์

โครงสร้างทางเคมีทำให้น้ำมันงามีความสามารถพิเศษในการซึมซาบสู่ผิวหนัง หลายวัฒนธรรมจึงนิยมนำไปใช้ในการนวดด้วยน้ำมัน

Cr. มหัศจรรย์อาหารญี่ปุ่น