รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeเรื่องเล่าสะกิดสุขภาพ Health Story

รู้หรือไม่? สูบบุหรี่ได้รับกัมมันตภาพรังสี

ภัยจากบุหรี่มียาวเหยียด เริ่มจากควันบุหรี่ มีกัมมันตภาพรังสี

คนที่สูบบุหรี่วันละ 1-2 ซอง จะได้รับกัมมันตภาพรังสีเท่ากับที่ได้รับจากการเอ็กซเรย์หน้าอก 250-300 ครั้ง ต่อปี

เนื่องจากสาธารณชน ให้ความสนใจต่อภัยจากบุหรี่ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

จึงเข้าใจว่าเราทุกคนทราบดีถึงอันตรายต่างๆของบุหรี่

แต่คนส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับสุขภาพอีกมากไม่เคยทราบมาก่อนว่าในควันบุหรี่มีกัมมันตภาพรังสี

ผลการศึกษา ซึ่งนำไปสู่การพบความจริง เรื่องนี้ ปรากฏในบทความทางการแพทย์

ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 แรกสุดเป็นบทความของ ดร.เอ็ดเวิร์ด แร็ดฟอร์ด (Edward Radford)

และ ดร.วิลม่า ฮันต์ (Vilma Hunt )ใน Science ปี ค.ศ. 1964 อีกบทความ ตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine เมื่อปี ค.ศ. 1965

ตามมาด้วยอีกสองบทความใน Science ปี ค.ศ. 1966 และ ค.ศ. 1967

แม้ผลการศึกษาสองครั้งในปี ค.ศ. 1967 ซึ่งตีพิมพ์ใน Nature จะโต้ว่า ปริมาณกัมมันตภาพรังสี น่าจะน้อยกว่าที่ระบุไว้ในรายงานการศึกษาของแร็ดฟอร์ด-ฮันต์

แต่จากการศึกษาอีกครั้งในปี ค.ศ 1967 ซึ่งตีพิมพ์ใน Science ยืนยันว่าบุหรี่มีกัมมันตภาพรังสีอยู่ในระดับสูง

บทความเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสีในควันบุหรี่ปรากฏในวารสารทางการแพทย์เป็นระยะๆ การศึกษาประเด็นนี้เพิ่มจำนวนขึ้นมากมาย

ผลการศึกษาครั้งสำคัญอีกครั้ง ที่ปรากฏใน Pediatrics เตือนถึงอันตรายแฝง จากกัมมันตภาพรังสี ในควันบุหรี่

ที่คนอื่นสูบที่ทำให้เด็กกลายเป็นผู้สูบบุหรี่มือสอง

ดร. แกรี่ อีแวนส์ (Gary Evans) ผู้เขียนบทความเรื่องการศึกษาดังกล่าว ชี้ว่า

โดยเฉลี่ยบุหรี่มีปริมาณกัมมันตภาพรังสีโพโลเนียม-210 (polonium-210) เพียงเล็กน้อยแต่สามารถวัดได้

เมื่อสูบบุหรี่ โพโลเนียม-210 จะ “ละลาย ระเหย ถูกสูดเข้าไปและสุดท้ายไปเกาะกับเยื่อบุหลอดลมส่วนต้นและหลอดลมใหญ่ที่แยกเข้าปอด

ภายในเวลา 1 ปี ผู้สูบบุหรี่วันละ 1-2 ซอง จะรับสารพิษตัวนี้ เข้าไปในเยื่อบุหลอดลมประมาณ 8-9 เรม (R.E.M. ย่อมาจาก roentgen equivalent man)

ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ได้รับจากการเอ็กซเรย์หน้าอกมาก (การเอ็กซเรย์หน้าอกทำให้ได้รับกัมมันตภาพรังสีประมาณ 0.03 เรมเท่านั้น)

ดังนั้นโดยเฉลี่ยในแต่ละปี ผู้สูบบุหรี่รับโพโลเนียม-210 เข้าไปในปริมาณเท่ากับการเอ็กซเรย์หน้าอก 250-300 ครั้ง

หากสูบนาน 10 ปี ปริมาณโพโลเนียม-210 ที่เยื่อบุหลอดลมในปอดจะอยู่ที่ประมาณ 80 เรม จึงคาดการณ์ได้ว่าท้ายที่สุดแล้วก็จะเป็นมะเร็ง”

ดร.อีแวนส์ ย้ำว่า “ในทางการแพทย์ ปอดของเด็กที่กำลังพัฒนา เสี่ยงต่อกัมมันตภาพรังสี จากบุหรี่ที่บิดา-มารดาเป็นผู้สูบในอัตราที่ค่อนข้างมาก

แต่จนกระทั่งบัดนี้เรายังไม่ทราบปริมาณของโพโลเนียม-210 ในปอดของเด็กเหล่านั้น

หรือความเป็นไปได้ที่เด็กจะเป็นมะเร็งจนกว่าจะมีเด็กเป็นมะเร็งจริงๆ”

เขามีความเห็นว่า “ควรแจ้งให้คนสูบบุหรี่ทราบว่า พวกเขาใช้เวลาอยู่กับควันกัมมันตภาพรังสีทุกวัน คนในครอบครัวและเพื่อนๆก็ต้องพลอยเสี่ยงไปด้วย”

ช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ทุกครั้งที่มีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์เหนือพื้นดิน ควันกัมมันตภาพรังสี จากการระเบิดแผ่กระจายปกคลุมทั่วทุกมุมโลก

แต่ในปัจจุบันควันกัมมันตภาพรังสีจากแหล่งกำเนิดอีกแหล่งถูกปล่อยออกมาทุกครั้งที่จุดบุหรี่สูบ

การสูบบุหรี่ทำให้คุณดูแก่ลงด้วย การศึกษาที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine ของสองนักวิจัย คือ

ดร.อลิซาเบธ เชเริร์ตซ์ (Elizabeth Sherertz) และ ดร.ซูซานน์ เฮสส์ (Suzanne Hess) ทดสอบว่า

แพทย์สามารถบอกอายุคนไข้ได้ค่อนข้างแม่นยำ แต่สิ่งที่พวกเขาพบโดยบังเอิญน่าสนใจกว่าคือ…

แพทย์บอกอายุคนไข้ที่สูบบุหรี่แก่กว่าอายุจริงอย่างน้อย 5 ปี

คนสูบบุหรี่ที่อยู่จนแก่เฒ่า ควรรับฟังและปฏิบัติตามคำแนะนําให้เลิกบุหรี่ได้แล้ว

The Journal of the American Medical Association ตีพิมพ์บทความของ ดร.มิลลิเซนต์ ฮิกกินส์ (Millicent Higgins) และเพื่อนร่วมงานว่า

“มีความเข้าใจกันผิดๆ ว่า หากคุณสูบบุหรี่แล้ว มีชีวิตอยู่ได้จนถึงวัยสูงอายุ คุณย่อมมีภูมิต้านทานต่ออันตรายจากบุหรี่

ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงควรรณรงค์อย่างจริงจังให้ผู้สูงอายุเลิกสูบบุหรี่ได้แล้ว

ทีมของ ดร.ฮิกกินส์ ศึกษาชาย-หญิง อายุมากกว่า 65 ปี รวม 5,201 คน พบว่ายิ่งสูบนาน ปอดยิ่งทำงานแย่ลง

โดยเฉลี่ยการทำงานของปอดของผู้ชาย ที่สูบบุหรี่ ย่ำแย่กว่าปอดของคนที่ไม่เคยสูบ 23 เปอร์เซ็นต์

ส่วนประสิทธิภาพการทำงานของปอดของผู้หญิงที่สูบบุหรี่ต่ำกว่าปอดของผู้หญิงที่ไม่เคยสูบบุหรี่ 18 เปอร์เซนต์

ปกติปอดของคนอายุระหว่าง 20-60 ปีที่ไม่สูบบุหรี่ก็ทำงานแย่ลง 40-50 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว

สำหรับคนที่เคยสูบบุหรี่แล้วเลิกตอนอายุ 40-60 ปี การทำงานของปอดจะอยู่ในระดับปานกลาง

แต่ผู้ที่เลิกสูบก่อนอายุ 40 ปอดจะทำงานเหมือนกับปอดของคนที่ไม่เคยสูบ

ทีมของ ดร.ฮิกกินส์สรุปว่า

“หากเลิกสูบจะเป็นผลดีต่อสุขภาพและชีวิตไปตลอดอีกหลายปีข้างหน้า การทำงานของปอดจะไม่แย่ลงมากเท่าพวกที่ยังคงสูบต่อไป

Cr.มหัศจรรย์แห่งชีวิต