รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeสารอาหารบำบัดโรค Nutrition

ประโยชน์ต่อสุขภาพของเห็ดหอม

เห็ดหอมหรือชิตาเกะเป็นอาหารแปลกและรสชาติดีที่สุดอย่าง หนึ่งของเอเชีย

รสชาติที่อ่อนโยนเเต่มีกลิ่นไม้ของเห็ดหอม แต่งแต้มความหรูหราแบบชั้นสูง ให้กับอาหารแทบทุกอย่าง

เห็ดหอม (Lentinus edodes)นำมาแทรกในอาหารแบบตะวันตกได้ง่าย จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับใช้แนะนำให้รู้จักอาหารสุขภาพแบบญี่ปุ่น

ยิ่งไปกว่านั้น เห็ดชนิดนี้เปี่ยมด้วยคุณสมบัติเชิงบำรุงสุขภาพและคุณสมบัติเชิงยา เนื่องจากรสชาติถูกใจและมีคุณค่าทางอาหารสูง บางครั้งนักมังสวิรัติจึงใช้เห็ดหอมทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ 

เห็ดหอมมีถิ่นกำเนิดในตะวันออกไกล จุดกำเนิดดั้งเดิมนั้น ย้อนหลังไปได้ถึงยุคครีเตเชียสหรือกว่าร้อยล้านปีมาแล้ว

นักวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าเห็ดชนิดนี้แพร่หลายไปยังประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และอินโดนีเซีย

เนื่องจากสปอร์ถูกลมพัดพาไป ชาวจีนเป็นพวกแรกที่เก็บเห็ดหอมมาใช้ประโยชน์นานกว่า 600 ปี ปัจจุบันเห็ดหอมเป็นเห็ดที่มีการเพาะเลี้ยงอย่างกว้างขวางมากเป็นอันดับ 2 ทั่วโลก

นับแต่ยุคโบราณ เห็ดหอมได้รับการยกย่องอย่างสูง ทั้งในแง่ของการเป็นอาหารและเป็นยา

หวู ริ แพทย์ผู้มีชื่อเสียงในยุคราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) เขียนถึงเห็ดชนิดนี้ไว้อย่างละเอียดละออ ระบุว่า มีสรรพคุณช่วยเพิ่มพลังงาน รักษาไข้ และกำจัดพยาธิ

ที่จริงแล้วแพทย์จีนแผนโบราณรู้ถึงอำนาจของเห็ดป่าสีเข้ม เนื้อแน่น มีหมวกเห็ดกว้างชนิดนี้ดีว่าสามารถกระตุ้น ชี่ หรือ “พลังชีวิต” และช่วยให้อายุยืน

สุขภาพและสุขภาวะ

เห็ดหอมแห้งมีโปรตีนสูงถึง 25% มีกรดอะมิโนจำเป็นทั้ง 8 ชนิด ในอัตราส่วนที่ถือว่าเป็นโปรตีน “ในอุดมคติ” สำหรับโภชนาการของมนุษย์ เห็ดหอมอุดมด้วยกรดอะมิโนลิวซีน และไลซีน

ซึ่งไม่มีในธัญพืชหลายชนิด มีกรดกลูตามิกปริมาณสูง ซึ่งกรดชนิดนี้คือกรดอะมิโนไม่จำเป็น ที่ถือกันว่าเป็น “อาหารสมอง”

เนื่องจาก สามารถกระตุ้นการทำงานของสารสื่อประสาท และยังช่วยนำโพแทสเซียมไปยังสมองอีกด้วย

เห็ดหอมยังเป็นแหล่งวิตามินและเกลือแร่หลายชนิด รวมถึงวิตามิน บี 12 ที่หายาก (วิตามินบี 12 สังเคราะห์ขึ้นโดยแบคทีเรียและเห็ดรา ไม่พบในผักต่างๆ)

สารอาหารอื่นนั้นรวมถึงไทอามิน ไรโบฟลาวิน ไนอาชิน ทองแดง โพแทสเซียม เซเลเนียม สังกะสี เส้นใยอาหารและเอ็นไซม์ต่างๆ เห็ดหอมยังมีเออร์โกสเตรอล ซึ่งแสงแดดจะช่วยเปลี่ยนให้เป็นวิตามินดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เห็ดหอมได้รับความสนใจไปทั่วโลก คือความเป็นไปได้เรื่องสรรพคุณเชิงยา

ช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์แยกสารต่างๆ จากเห็ดหอมได้หลายอย่าง ซึ่งอาจจะมีบทบาทสำคัญในการรักษาและป้องกันโรคร้ายจากอารยธรรมสมัยใหม่หลายโรค นั่นคือ โรคหัวใจ มะเร็ง และเอดส์

ผู้ที่มีส่วนอย่างยิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความสนใจเห็ดหอมในเชิงการแพทย์ ในปัจจุบันคือคิซากุ โมริ ดุษฎีบัณฑิตแห่งญี่ปุ่น

เมื่อปี 1936 ดร.โมริ ก่อตั้งสถาบันวิจัยเห็ดขึ้นในโตเกียว

ก่อนจะเสียชีวิตในปี 1977 ดร.โมริ ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เพื่อบันทึกสรรพคุณเชิงยาของเห็ดหอมเอาไว้ ด้วยการใช้เทคนิคเชิงวิเคราะห์

ดร.โมริพบว่า เห็ดหอมมีเอ็นไซม์และวิตามินหลายชนิด ที่ปกติแล้ว มักจะไม่พบในพืชต่างๆ การค้นพบซึ่งตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ Mushrooms as Health Foods (Japan Publications, 1974) นั้น น่าประทับใจยิ่ง

จากการศึกษาโดยทดลองกับมนุษย์เป็นเวลาหลายปี ดร.โมริ พบว่าเห็ดหอมให้ผลดีในการรักษาโรคภัยมากมายหลายโรค รวมถึงภาวะคอเลสเตอรอลสูง นิ่ว ภาวะกรดล้นเกิน โรคกระเพาะ เบาหวาน ภาวะขาดวิตามิน โลหิตจาง และแม้แต่ไข้หวัดทั่วไป

ผลงานของโมริ มีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะในแวดวงการแพทย์ญี่ปุ่น

และในทศวรรษ 1960 นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มค้นคว้าอย่างจริงจัง เพื่อค้นหาความลับเรื่องพลังอำนาจ ในการเยียวยาของเห็ดหอมที่กล่าวขวัญกันจนเป็นตำนาน การศึกษาต่างๆ รวมแล้วหลายร้อยครั้ง

เน้นที่ความสามารถของเห็ดหอมในการลดระดับไขมันในเลือดได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงคุณสมบัติด้านการต้านเนื้องอก ด้านการต้านไวรัส และด้านปฏิชีวนะที่เห็ดชนิดนี้มีอยู่สูงมาก

โรคหัวใจเเละหลอดเลือด

การมีระดับไขมันในเลือดสูงเกี่ยวข้องกับโรคร้ายหลายชนิด เช่น ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและเส้นเลือดในสมองแตก

ในปี 1966 เหล่าผู้ค้นคว้าจึงตื่นเต้น เมื่อสามารถแยกสารจากเห็ดหอมที่ช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้อย่างน่าทึ่ง

มีการนำสารดังกล่าวซึ่งปัจจุบันเรียกกันว่า อีริทาดีนีน ป้อนให้หนูที่มีระดับไขมันในเลือดสูง เพียงไม่กี่วัน ระดับไขมันในเลือดของหนูก็ลดลงถึง 25-45% ดังที่รายงานไว้ใน The Journal of nutrition

อีริทาดีนีนนั้น มาจากเส้นใยที่ละลายน้ำได้ในเห็ดหอม แต่จะออกฤทธิ์ดีขึ้นเมื่อบริโภคเห็ดทั้งต้น

ผลการศึกษากับมนุษย์แสดงให้เห็นว่าการบริโภคเห็ดหอมเพียงวันละ 3 ออนซ์ (85 กรัม หรือประมาณ 5-6 ต้น) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ช่วยลดไขมันในเลือดได้ถึง 12%

ระบบภูมิต้านทาน

“ในปัจจุบันโรคภัยหลายชนิดของมนุษย์ เพิ่มจำนวนขึ้นทั่วโลก โดยไม่มีวิธีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง”

จอห์น โดโนฮิว นักกิณวิทยาผู้ร่วมเขียนหนังสือ Shitake Growers Handbook (Kendal Hunt, 1990) ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ โดยระบุว่า “ระบบภูมิต้านทานล้มเหลวหรือทำงานผิดพลาด ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานของโรคมะเร็ง โรคจากไวรัสต่างๆ และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง”

โดโนฮิวและนักวิทยาศาสตร์อื่นๆ ทั่วโลกยืนยันว่ามีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าสารประกอบช่วยบำรุงสุขภาพในเห็ดราที่มีฤทธิ์เชิงยาและกินได้ซึ่งรวมถึงเห็ดหอมด้วยนั้น สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้

ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโพลีแซ็กคาไรด์ที่ชื่อเลนติแนน และอนุภาคคล้ายไวรัส ที่พบในเห็ดหอม คือสิ่งที่ทำให้เกิดการเพิ่มปริมาณการผลิตสารประกอบต่างๆ ที่ส่งผลต่อภูมิต้านทานและการอักเสบ

บรรดาสารที่เรียกว่าลิมโฟไคน์ เช่น อินเทอร์เฟอรอนและอินเทอร์ลิวคิน ช่วยกระตุ้นระบบป้องกัน เร่งการเพิ่มจำนวนของเซลล์สังหารที่เรียกว่าฟาโกไซต์ รวมทั้งแมโครเฟจ

และเซลล์ต่อสู้อื่นๆ ของระบบภูมิคุ้มกันที่คอยทำลายเซลล์มะเร็ง แบคทีเรีย และไวรัส ทั้งนี้ สิ่งที่เรียกว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันโดยพึ่งเซลล์ ถือเป็นกลไกธรรมชาติในการต้านทานโรค

 มะเร็ง

การทดลองที่น่าประทับใจเพื่อสาธิตผลกระทบของเห็ดหอมในการต้านเนื้องอกนั้น กระทำกับสัตว์ที่ศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งชาติในโตเกียว

โดยการนำสารสกัดจากเห็ดหอมในปริมาณน้อยไปใช้ในช่วงสั้นๆ กับหนูที่เป็นมะเร็งเนี้อเยื่อเกี่ยวพัน ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เป็นผลจากไวรัส

ผลการทดลองที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cancer Research เมื่อปี 1970 แสดงให้เห็นว่า หนู 6 ใน 10 ตัว หายขาดจากเนื้องอกโดยสิ้นเชิง เมื่อเพิ่มความเข้มข้นของสารสกัดอีกเล็กน้อย

เห็ดหอมก็ให้ผลเต็ม 100% จนหนูทุกตัวหายขาดจากเนื้องอก

ในปี 1996 การศึกษาวิจัยที่มหาวิทยาลัยดรูว์ พบว่าสารสกัดจากเห็ดหอมที่เรียกว่าโพลีแซ็กคาไรด์ที่จับตัวกับโปรตีน มีคุณสมบัติในการต้านเนื้องอกได้อย่างดี

ในการศึกษาครั้งนี้ คนไข้มะเร็ง 10 ราย ได้รับสารประกอบดังกล่าว และทุกรายแสดงอาการฟื้นตัวอย่างชัดเจน 

การศึกษาวิจัยลักษณะเดียวกันยังแสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากเห็ดหอมช่วยป้องกันไม่ให้เนื้องอกที่ปลูกถ่ายเข้าไปสามารถยึดเกาะได้

และนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นได้รับ “ผลลัพธ์ดีเยี่ยม” ในการศึกษาวิจัยที่กินเวลา 4 ปี เพื่อติดตามผลการรักษาคนไข้มะเร็งกระเพาะและลำไส้ใหญ่ขั้นร้ายแรงและเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก

โดยทดลองให้สารสกัดจากเห็ดหอมร่วมกับยาเคมีบำบัดสมัยใหม่เพื่อลดผลกระทบที่เป็นพิษต่อเนื้อเยื่อที่ยังแข็งแรงและระบบภูมิคุ้มกัน

เอชไอวี/เอดส์

พัฒนาการด้านงานวิจัยเชิงการแพทย์เกี่ยวกับเห็ดหอมในระยะหลังนั้น เกี่ยวข้องกับการใช้สารสกัดจากเห็ดหอมเพื่อยับยั้งการเจริญของไวรัสที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของมนุษย์บกพร่อง (เอชไอวี)

ในการเพาะเนื้อเยื่อ นักวิจัยที่ทำงานกับโรงเรียนการแพทย์ของมหาวิทยาลัยยามากุชิในเมืองอุเบะ ประเทศญี่ปุ่น รายงานว่า

สารสกัดจากเห็ดหอมมี “ฤทธิ์เชิงป้องกัน”ที่ยับยั้งความสามารถของไวรัสเอชไอวีในการทำลายเซลล์

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่ช่วยเพิ่มการตอบสนองด้านภูมิคุ้มกันและออกฤทธิ์ต้านไวรัสอย่างเห็ดหอมนั้น ควรมีการประเมินผลเพิ่มเติมในแง่ของการรักษาโรคเอดส์/เอชไอวี

ยาปฏิชีวนะฤทธิ์แรง

นอกจากช่วยต่อสู้มะเร็ง ยับยั้งการเติบโตของไวรัส และลดไขมันในเลือดได้แล้ว เห็ดหอมยังออกฤทธิ์รุนแรง

ด้านปฏิชีวนะต่อจุลชีพต่างๆ สารชื่อคอร์ติเนลินที่สกัดจากเห็ดหอม เป็นสารที่ออกฤทธิ์กว้างขวาง ในการต้านแบคทีเรีย สามารถฆ่าแบคทีเรียก่อโรคได้หลายชนิด

สารประกอบซัลไฟด์ ที่สกัดจากเห็ดหอมออกฤทธิ์ ต่อต้านเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคกลากและโรคผิวหนังอื่นๆ อีกทั้งการทดสอบขั้นต้น ยังแสดงว่าเห็ดหอมอาจมีประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบชนิดบี

การให้อาหารเสริมเลนติแนนจากเห็ดหอมแสดงให้เห็นว่าช่วยลดอัตราการเกิดซ้ำของหูดหงอนไก่ที่อวัยวะสืบพันธุ์ (Condyloma acuminata) และลดก้อนเลือดอุดตันได้เห็ดหอมยังขึ้นชื่อว่าช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ด้วย


1 ผู้ที่ศึกษาด้านชีววิทยาของเห็ดรา-ผู้แปล

Cr. มหัศจรรย์อาหารญี่ปุ่น