รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeศาสตร์ชะลอวัย Anti-aging

วิจัยสเต็มเซลล์รักษาเบาหวาน – สนช.- ไทยสเตมไลฟ์ หนุนเงิน

หนังสือพิมพ์มติชน วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2549 หน้า 10

59-05-12-Stem-Cell

ศ.นพ.ธีรชัย  ฉันทโรจน์ศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวในการแถลงข่าว “สเต็มเซลล์ นวัตกรรมแห่งวงการแพทย์ในอนาคต” ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่า

ปัจจุบัน ประชากรทั่วโลกกว่า 170,000 คน ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อน ที่พบบ่อย คือ แผลเบาหวานที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ผู้ป่วยมักถูกตัดขา

 

ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบผู้ป่วยเบาหวานราว 10% ในผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปี อีกทั้งยังพบว่า 7.4% ของผู้ป่วยเบาหวานเกิดแผลเรื้อรังและอาจเสี่ยงต่อการถูกตัดขา

จากสถิติที่ผ่านมา พบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานที่ถูกตัดขาราว 40,000 คนต่อปี และเสียค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดขาและการดูแลแผลเฉลี่ย ราว 1,000,000 บาท

แต่หากรักษาโดยการใช้สเต็มเซลล์จะเสียค่าใช้จ่ายราว 200,000 บาท ซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 32,000 ล้านบาทต่อปี

รศ.นพ.สมพงศ์  สุวรรณวลัยกร คณะแพทศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ร่วมกับโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ทำโครงการวิจัยเพื่อรักษาโรคแทรกซ้อนในระบบเส้นเลือดของผู้ป่วยเบาหวานด้วยสเต็มเซลล์

โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และบริษัท ไทย สเตมไลฟ์ จำกัด โดยโครงการนี้จะเริ่มรักษาในผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 30 ราย ที่มีแผลเรื้อรังบริเวณฝ่าเท้า และไม่สามารถรักษาบาดแผลได้จนต้องตัดขาบริเวณดังกล่าว

โดยทีมแพทย์จะนำสเต็มเซลล์ที่ได้มาจากเลือดของผู้ป่วยมาฉีดกลับเข้าไปบริเวณเส้นเลือดใหญ่ หรือฉีดรอบๆ บาดแผล รวมถึงในบริเวณใกล้เคียง เพื่อสร้างเส้นเลือดเข้าหล่อเลี้ยง และซ่อมแซมบริเวณบาดแผล จากนั้นจึงมาดูประสิทธิภาพการรักษา

“เบื้องต้นทีมแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ทดลองฉีดสเต็มเซลล์ให้กับผู้ป่วยที่มีบาดแผลเรื้อรังบริเวณฝ่าเท้า ซึ่งหลังจากเวลาผ่านไป 16 วัน พบว่าบาดแผลเล็กลง และดีขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งนี้เชื่อว่าการรักษานี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องตัดขาทิ้งถึง 70%” รศ.นพ.สมพงษ์กล่าว

รศ.นพ.สุรเดช  หงส์อิง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า สนช. ร่วมกับบริษัท ไทย สเตมไลฟ์ จำกัด ให้การสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงการนวัตกรรมการเพิ่มจำนวนสเตมเซลล์จากเลือดในสายสะดือ

โดยการเพาะเลี้ยงด้วยการใช้น้ำยาเฉพาะร่วมกับสารกระตุ้นชนิดพิเศษ เพื่อเพิ่มจำนวนสเต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือ 100 เซลล์ ให้เป็น 30,000 เซลล์ หรือ 200 เท่า ภายใน 2-3 สัปดาห์

ทั้งนี้จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า สเต็มเซลล์เหล่านี้มีคุณสมบัติเหมือนกับสเต็มเซลล์เดิมไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ หากได้รับการอนุญาตจะเริ่มทำการวิจัยทันที