รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeศาสตร์ชะลอวัย Anti-aging

7 ประเภทอาหาร ส่งเสริมสุขภาพ

ในบรรดาปัจจัย 4 สำหรับความเป็นอยู่ของคน อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด แม้จะทราบกันทั่วไปว่า อาหารคือสิ่งที่บริโภคเข้าไปเพื่อบรรเทาความหิว ช่วยสร้างเสริมซ่อมแซมร่างกาย
แต่การบริโภคอาหาร ควรให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อการเติบโต การพัฒนาของกายและจิต รวมทั้งช่วยป้องกันและรักษาโรคอีกด้วย

คนในอดีตเชื่อว่า การกินอาหารที่มีคุณค่า สามารถเสริมสุขภาพภายในร่างกาย จึงได้ใช้อาหารป้องกัน บรรเทา ช่วยเสริมการบำบัดโรค รวมทั้งรักษาโรคด้วย

ฉะนั้น อาหารที่ดีจึงมีคุณค่าเป็นยาไปในตัว ดังที่ Hippocrates นักปราชญ์และบิดาการแพทย์ชาวกรีก ในปี 460-377 ก่อนคริสตกาล กล่าวว่า “จงกินอาหารให้เป็นยาของท่าน (Let food be your medicine)”

เป็นที่ยอมรับกันส่วนใหญ่ว่า สุขภาพ โรคเรื้อรัง (chronic disease) และโรคจากความเสื่อม (degenerative disease) หลายชนิดมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาหาร

จึงมีผู้นิยมนำอาหารมาใช้ป้องกันบำบัดอาหารและรักษาโรค รวมถึงมีการใช้เป็นอาหารเสริมสุขภาพ หรือในรูปแบบอื่นด้วย

มีศัพท์หลายคำที่เกี่ยวข้องกับอาหารและสุขภาพ เช่น Health food, Vitafoods, Dietary therapcutics, Sport foods and drink, Fortified foods ซึ่งก็อนุโลมให้ใช้แทนกันได้

ในปัจจุบัน ความสนใจในด้านผลของอาหารต่อสุขภาพมีเพิ่มขึ้นมาก เช่นมีทฤษฎี Orthomolecular Medicine ซึ่งตั้งขึ้นโดย Dr.Linus Pauling กล่าวไว้ว่า

“ร่างกายของมนุษย์เป็นระบบชีวเคมีที่สลับซับซ้อน และจำเป็นต้องอยู่ในสมดุลด้วยสารอาหารที่รับเข้าไป

ถ้าสมดุลนั้นมีการเปลี่ยนแปลง หรือถูกรบกวน สารชีวเคมีจะเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดพยาธิสภาพ ดังนั้น จะต้องปรับระดับสารชีวโมเลกุลให้เหมาะสมใหม่”

1.Functional foods, Pharma foods, Designer foods: อาหารเสริมสร้างสุขภาพ เป็นอาหารที่ให้ผลต่อสุขภาพ

นอกเหนือจากคุณค่าทางโภชนาการที่มีได้จากธรรมชาติ ใช้ในชีวิตประจำวัน มีผลเสริมสร้างสุขภาพ สามารถป้องกันและ/หรือบรรเทาอาการเจ็บไข้ได้

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ได้ให้ความหมายของ Functional foods ว่า เป็นอาหารที่ได้หรือดัดแปลงจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ มีรูปลักษณะ รสชาติ และการบริโภคเหมือนอาหารที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (ไม่เป็นผง เม็ด แคปซูล)

มีองค์ประกอบซึ่งเมื่อถูกย่อยสลายและดูดซึมแล้ว สามารถปรับสภาวะชีวภาพของระบบต่างๆ ในร่างกายให้สมบูรณ์มีสุขภาพดีขึ้น อาหารเหล่านี้ต้องผ่านการตรวจวิเคราะห์และรับรองคุณภาพก่อนการกระจายสู่ผู้บริโภคทางร้านค้าทั่วไป

2.Neutraceuticals (nutrient + pharmaceuticals): อาจเป็นอาหารเสริมสร้างสุขภาพ หรืออาจหมายถึง อาหารหรือส่วนของอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ช่วยป้องกันบรรเทาอาการของโรค อาจเป็นสมุนไพร อาหารสำเร็จรูป สารอาหารเดี่ยว (isolated nutrients) หรืออื่นๆ โดยมีข้อมูลทางการแพทย์พิสูจน์ว่มีประโยชน์ต่อสุขภาพจริง

3.Health foods: อาหารสุขภาพ, อาหารเพื่อสุขภาพ, อาหารเสริมสุขภาพ เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ประกอบด้วยสารที่มีประโยชน์ ส่วนใหญ่ได้จากธรรมชาติ ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมี

4.Junk foods: อาหารขยะ เป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการต่างๆ และใช้สารเคมีมาก ไม่ดีต่อสุขภาพ

เช่น ใช้ธัญพืชขัดสีจนขาว ใช้ไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลทรายขาว รวมทั้งใช้อุณหภูมิสูงเกินไปในการปรุง junk food

ส่วนใหญ่เป็นอาหารพวก fast – food จากทางตะวันตก เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ฮอทดอก แซนวิช โดนัท พิซซ่า เค้ก ไอศกรีม

5.Natural foods :อาหารธรรมชาติ เป็นอาหารที่ได้มาจากแหล่งธรรมชาติ เช่น ผัก ผลไม้ที่เพาะปลูกโดยไม่ใช้สารช่วยเร่งการเจริญ สารขจัดสิ่งรบกวนหรืออาจหมายถึง สัตว์ที่เลี้ยงตามธรรมชาติ ไม่กักขังหรือไม่ใช้สารเคมีเพื่อเร่งการเจริญหรือป้องกันรักษาโรคของสัตว์นั้น
6.Organic foods: อาหารอินทรีย์ เป็นอาหารที่ได้จากผักผลไม้ที่เพาะปลูก โดยปุ๋ยธรรมชาติ และสัตว์ซึ่งเลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติ
7.Medical foods: อาหารทางการแพทย์ เป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค หรือผู้ที่มีสภาพทางร่างกายผิดปกติ การบริโภคต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เช่น อาหารที่ใช้ควบคุมน้ำหนัก อาหารเสริมไวตามินหรือเกลือแร่